ทำไม ISUZU ไม่ทำรถเก๋ง HONDA ไม่ทำรถกระบะ ?

ทำไม ISUZU ไม่ทำรถเก๋ง HONDA ไม่ทำรถกระบะ ?

27 ต.ค. 2022
เคยตั้งคำถามกันไหมว่า ทำไม ISUZU ไม่ทำรถเก๋ง
ส่วน HONDA ก็ไม่ทำรถกระบะ ?
ซึ่งจริง ๆ แล้วรู้หรือไม่ว่า 
ISUZU ก็เคยลองทำรถเก๋ง ส่วน HONDA ก็เคยลองทำรถกระบะเช่นกัน
แต่ทั้งคู่ก็เลิกทำไปแล้ว..
เรื่องนี้มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ ?
BrandCase จะสรุปเรื่องราวมุมนี้ ที่หลายคนยังไม่รู้ให้อ่านกัน
เล่าก่อนว่า ISUZU มีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่ปี 1916
จากการที่บริษัทญี่ปุ่น ไปร่วมมือกับบริษัทอังกฤษ เพื่อผลิตรถบรรทุกในชื่อ Wolseley A9 โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ซึ่งในเวลาต่อมา ISUZU ก็ได้พัฒนารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก ทำให้ ISUZU มีความสามารถและประสบการณ์ที่มากขึ้น
จนเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตรถกระบะ และรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ในเวลาต่อมา ISUZU ไม่อยากทำเพียงแค่รถบรรทุกที่ตัวเองถนัดเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว
ISUZU ก็อยากจะขยายตลาดรถยนต์ของตัวเอง เช่น การผลิตรถสปอร์ต และผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือรถเก๋ง
ปี 1961 ISUZU ก็ได้ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่บริษัทออกแบบเองเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อรุ่นว่า ISUZU Bellel โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน
ซึ่งในภาพรวมแล้ว ISUZU ก็ลองทำรถยนต์ประเภทนี้ ออกมาตีตลาดอยู่เรื่อย ๆ แต่ผลตอบรับกลับไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
ทีนี้มาดูในด้านของ HONDA กันบ้าง..
หลายคนอาจจะเซอร์ไพรส์ ถ้าบอกว่า
ก่อนที่จะมาทำรถเก๋ง HONDA เอง เคยทำรถกระบะมาก่อน โดย HONDA ได้ผลิตรถกระบะขนาดเล็ก ที่มีชื่อรุ่นว่า HONDA T360 และได้เปิดตัวในปี 1963 
โดย HONDA T360 เป็นการผลิตรถยนต์รุ่นแรกของ HONDA 
แต่ผลตอบรับจากลูกค้าก็ไม่สู้ดีนัก
และลองเปลี่ยนไปทำรถเก๋ง ปรากฏว่าผลตอบรับเริ่มดีขึ้น
ในช่วงเวลาต่อมา แบรนด์รถยนต์แต่ละแบรนด์ ก็ได้เริ่มตัดสินใจวางจุดยืนของตัวเอง ด้วยการหันไปเอาดีกับรถยนต์ในประเภทที่ตัวเองถนัด หรือทำได้ดีที่สุด
HONDA หันไปเอาดีทางด้านการผลิตรถเก๋ง หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินเป็นหลัก
ISUZU หันไปเอาดีทางด้านการผลิตรถกระบะ และรถบรรทุก ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
อย่างไรก็ตาม ในปี 1971 บริษัท General Motors หรือ GM ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน ISUZU 
จึงทำให้ทาง GM ได้ยื่นมือเข้ามา เพื่อช่วยสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ต่าง ๆ 
ในการผลิตรถยนต์ ให้กับ ISUZU ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การทำรถเก๋ง
โปรเจกต์ทำรถเก๋งของ ISUZU เลยถูกปัดฝุ่นกลับมาทำใหม่อีกครั้ง โดยมีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงลองออกรถเก๋งรุ่นใหม่ ๆ มาหลายปี 
แต่ผลปรากฏว่า รถเก๋งของ ISUZU ทำยอดขายได้ในสัดส่วนที่น้อยมาก
คิดเป็นเพียงแค่ 10% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดของบริษัท
และเนื่องจากทางค่ายรถใหญ่อย่าง GM ก็มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลหลากหลายแบรนด์ ที่ตีตลาดไปทั่วโลกอยู่แล้ว
ทำให้การทุ่มงบประมาณไปกับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการทำตลาดรถเก๋ง ISUZU เพื่อที่จะแข่งขันกันเอง จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป
ในปี 1992 ทางค่ายรถยนต์ GM จึงเลือกที่จะยุติการสนับสนุน การพัฒนารถเก๋งของ ISUZU
แล้วหันไปทุ่มเทกับการพัฒนารถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นจุดแข็งของแบรนด์ ISUZU อยู่แล้ว
แต่มีเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ
หลังจากนั้นไม่นาน ทั้ง ISUZU และ HONDA ค่ายรถยนต์ทั้งสองแบรนด์ ก็อยากจะเติบโต ในประเภทรถยนต์ที่ตัวเองไม่ถนัด และเห็นว่าน่าจะมาร่วมมือกัน เพื่อเสริมองค์ความรู้ได้
ทั้ง HONDA และ ISUZU จึงได้ตัดสินใจทำข้อตกลง เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันในปี 1993
เพื่อผลิตรถยนต์ของตัวเอง แล้วนำไปขายในอีกแบรนด์หนึ่ง 
โดยที่ HONDA จะผลิตรถเก๋ง และขายในแบรนด์ ISUZU
และ ISUZU จะผลิตรถกระบะ และขายในแบรนด์ HONDA
ซึ่งรถยนต์ดังกล่าว ก็ได้ผลิตออกมาด้วยกันหลายรุ่น เพื่อออกไปตีตลาดในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย 
ISUZU ทำรถกระบะให้ HONDA โดยใช้รุ่น ISUZU TFR Spacecab มาเป็นต้นแบบในการผลิตรุ่น HONDA Tourmaster

และ HONDA ก็ได้ทำรถเก๋งให้ ISUZU
โดยใช้รุ่น HONDA Civic EK มาเป็นต้นแบบในการผลิตรุ่น ISUZU Vertex
ซึ่งรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นนี้ เปิดตัวไปเมื่อปี 1996
โดยหลังจากที่ได้เปิดตัว กลับพบว่า ยอดขายของทั้งรถเก๋ง ISUZU Vertex 
และรถกระบะ HONDA Tourmaster มียอดขายที่ไม่สู้ดีเท่าไรนัก
เราจะเห็นได้จากยอดขายรถยนต์ของทั้ง 2 รุ่นใน 1 ปี 
- ISUZU Vertex มียอดขาย 1,560 คัน 
- HONDA Tourmaster มียอดขาย 1,877 คัน
ในขณะที่ยอดขายรถกระบะ ISUZU และรถเก๋ง HONDA ที่ในช่วงเวลานั้นมียอดขาย แตะหลักแสนคันต่อปี 
สำหรับเหตุผลที่รถกระบะ HONDA และรถเก๋ง ISUZU มีผลตอบรับจากลูกค้าที่ไม่ดีเท่าไรนัก นั่นก็เพราะว่า 
รุ่นรถยนต์ ที่ทำให้กับค่ายรถยนต์อีกค่ายหนึ่งนั้น มีการใช้งาน รวมถึงรูปร่างทั้งภายในและภายนอก ที่ใกล้เคียงกันกับต้นแบบเป็นอย่างมาก
อย่างรถเก๋ง ISUZU Vertex ที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับรถเก๋ง HONDA Civic EK ในสมัยนั้น 
ซึ่งถ้าหากลูกค้า ต้องการซื้อรถเก๋งสักคัน ก็คงจะไปเลือก HONDA ที่เป็นต้นแบบในการผลิตให้กับ ISUZU ไปเลยจะดีกว่า
และเนื่องจากว่า รถยนต์รุ่นใหม่ ที่อีกค่ายผลิตมาให้ จะต้องนำไปติดโลโกแบรนด์ใหม่ และยังต้องนำรถยนต์ไปปรับแต่งเพิ่มเติม
จึงทำให้ราคารถยนต์ป้ายแดงของทั้ง 2 รุ่น มีราคาแพงกว่ารถยนต์ต้นแบบเล็กน้อย
อย่าง HONDA Tourmaster ที่มีต้นแบบมาจาก ISUZU TFR Spacecab 
โดย ISUZU TFR Spacecab  มีราคาอยู่ที่ 354,000 บาท
และ HONDA Tourmaster มีราคาอยู่ที่ 372,500 บาท
ทั้งสองรุ่นมีราคาต่างกัน 18,500 บาท
เช่นเดียวกันกับ ISUZU Vertex ที่มีต้นแบบมาจาก HONDA Civic EK
โดย HONDA Civic EK มีราคาอยู่ที่ 560,000 บาท
และ ISUZU Vertex มีราคาอยู่ที่ 588,000 บาท
ทั้งสองรุ่นมีราคาต่างกัน 28,000 บาท
นอกจากนี้ ในเรื่องภาพจำของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์
ก็ต้องบอกว่า รถยนต์แบรนด์ ISUZU ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตรถกระบะ และรถบรรทุกอยู่แล้ว
อย่างรถกระบะ ISUZU D-Max ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
เป็นรถกระบะรุ่นเดียวในตลาดที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือกับสถาบัน 
Japan Railway Technical Research Institute ที่วิจัยและพัฒนารถไฟหัวกระสุนชินกันเซ็น
ส่วน HONDA เองก็ขึ้นชื่อเรื่องรถเก๋ง
ซึ่งต้องบอกว่ามีรถเก๋งให้เลือกด้วยกันหลายรุ่น ที่รองรับความต้องการของผู้ใช้งานได้หลากหลาย
เช่น ถ้าอยากได้รถเก๋ง ในราคาประหยัด ให้เลือกซื้อรุ่น HONDA City 
ถ้าอยากได้รถเก๋ง ที่มีห้องโดยสารกว้าง ขนส่งสัมภาระได้เยอะ ให้เลือกซื้อรุ่น HONDA Civic
และถ้าอยากได้รถเก๋งที่กว้างขวาง แต่เพิ่มความหรูหราขึ้นมาหน่อย ให้เลือกซื้อรุ่น HONDA Accord  
อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนรถยนต์ ระหว่าง HONDA กับ ISUZU ก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความล้มเหลวเสมอไป
อย่างที่ ISUZU ได้ทำรถ SUV ให้กับ HONDA ไปติดโลโก และใช้ชื่อรุ่นว่า HONDA Passport
ซึ่งประสบความสำเร็จ ในการตีตลาดรถยนต์ประเภท SUV ที่สหรัฐอเมริกา
นั่นก็เพราะว่า HONDA ได้มีการปรับแต่งตัวรถให้มีความหรูหรา และเข้ากับผู้ใช้งานได้มากขึ้น
อีกทั้งตลาดรถยนต์ SUV ในสหรัฐอเมริกานั้น มีขนาดที่ใหญ่มากพอ  
จากความสำเร็จของ HONDA Passport จึงได้เป็นต้นแบบ
ในการพัฒนารถยนต์ SUV รุ่นอื่น ๆ อย่างรุ่น BR-V, HR-V และ CRV ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ส่วน ISUZU ก็ได้ถอนตัวจากการจำหน่ายรถเก๋ง ซึ่งรถเก๋งรุ่นสุดท้ายที่ขายคือ ISUZU Aska
โดยได้ยกเลิกการขายไปในปี 2002 
และได้หันมาเอาดีทางด้านรถบรรทุก และรถกระบะ จนสามารถตีตลาดในประเทศไทยได้จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งหากถามว่า ยี่ห้อรถยนต์ทั้ง HONDA และ ISUZU ประสบความสำเร็จในประเทศไทยมากแค่ไหน
จากยอดขายรถยนต์ทุกประเภทในครึ่งปีแรกของปี 2565
- รถกระบะ ISUZU มียอดขาย 101,439 คัน ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของยอดขายรถกระบะ
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคล HONDA มียอดขาย 29,574 คัน ซึ่งเป็นอันดับ 2 ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
References
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.