ทำไม CP ต้องมีแบรนด์กาแฟ ถึง 9 แบรนด์

ทำไม CP ต้องมีแบรนด์กาแฟ ถึง 9 แบรนด์

20 มี.ค. 2022
ทำไม CP ต้องมีแบรนด์กาแฟ ถึง 9 แบรนด์ | BrandCase
ข้อมูลจากสถาบันอาหารระบุว่า ภาพรวมตลาดกาแฟในประเทศไทยปี 2561 อยู่ที่ 23,727 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท
จากตัวเลขนี้เราจะเห็นได้ว่าตลาดกาแฟมีมูลค่ามหาศาล และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
เนื่องจากพฤติกรรมของคนไทยนั้น มีการดื่มกาแฟมากขึ้น ทำให้แบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ อยากจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดนี้
โดยเครือ CP เองก็คือหนึ่งในนั้น
แต่คำถามคือ แล้วทำไม CP ถึงต้องมีแบรนด์กาแฟ ถึง 9 แบรนด์
ทำไมไม่ทำแบรนด์เดียวแล้วขยายสาขาไปทั่วไทย ?
ลองมาดูแบรนด์กาแฟที่อยู่ในมือของ CP
All Café, KUDSAN, กาแฟมวลชน, ARABITIA, Jungle, TrueCoffee, Bellinee’s Bake & Brew, Star Coffee และ Chester’s Coffee
โดยเหตุผลหลัก ๆ ที่ CP ต้องมีแบรนด์กาแฟ ถึง 9 แบรนด์ ก็คือ ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคให้ครบทุกกลุ่มรายได้
- All Café แบรนด์กาแฟหลักของ CP ALL ที่เน้นกลุ่มลูกค้าระดับเริ่มต้น
- KUDSAN เพิ่มความพรีเมียมขึ้นมาเล็กน้อย ด้วยการใช้เครื่องชงกาแฟแบบทำมือ
และเน้นความเป็นไลฟ์สไตล์คาเฟขึ้นมา ด้วยการขายเบเกอรีร่วมด้วย
แต่ทั้ง 2 แบรนด์ ก็มีช่องทางจัดจำหน่ายที่สะดวกสบาย และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างง่าย ๆ คือ ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้ CP ประหยัดต้นทุนเรื่องพื้นที่ทำเลในการตั้งร้านค้า และส่งผลให้กาแฟมีราคาที่ถูกลง
นอกจากนี้ การขยายสาขาก็สามารถทำได้แบบติดเทอร์โบ
เพียงแค่ใช้ฐานทัพ 7-Eleven ที่มีมากกว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศไทย
- กาแฟมวลชน แบรนด์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบุกตลาด คอนวีเนียน คอฟฟี หรือเพิ่มความสะดวกให้กับกลุ่มคนทำงาน ไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้าแค่เครื่องดื่ม แต่ยังมีสินค้าอื่น ๆ อีก เช่น อาหาร เบเกอรี และสินค้าชุมชน
อีกทั้ง CP ก็เห็นช่องว่างในการขยายร้านกาแฟในรูปแบบแฟรนไชส์ จึงได้ตั้งแบรนด์กาแฟมวลชนขึ้นมานั่นเอง
และกาแฟมวลชนยังเน้นความสะดวกรวดเร็ว ด้วยเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ เพื่อให้ได้รสชาติที่คงที่ และมีราคาถูก ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นคนทำงาน สามารถซื้อได้วันละหลาย ๆ แก้ว
- แบรนด์ ARABITIA และแบรนด์ Jungle Café ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับ B+ ที่ชอบความพรีเมียมขึ้นมาอีกนิด
กลุ่มลูกค้าระดับ B+ หรือกลุ่มลูกค้าพรีเมียมขึ้นมาหน่อย และมักจะใช้ชีวิตในย่านทำเลที่มีคนเยอะ ๆ
ทาง CP จึงแตกเป็นแบรนด์ ARABITIA ที่เน้นเปิดร้านในทำเลทอง เช่น โรงพยาบาล
และแบรนด์ Jungle Café ที่มาจับตลาดกาแฟ Mass และขายใน Lotus’s go fresh และ CP Freshmart
- แบรนด์ Bellinee’s Bake & Brew สร้างมาเพื่อกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม
แบรนด์ Bellinee’s Bake & Brew จะมาตอบโจทย์ลูกค้าระดับพรีเมียม ด้วยการใช้กาแฟสดระดับพรีเมียมจากอิตาลี ที่คิดค้นและสร้างสรรค์เมนูขนมต่าง ๆ เพื่อให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปาตีซีเย (Patisserie) หรือก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำขนมฝรั่งเศส ระดับมืออาชีพ
- แบรนด์ TrueCoffee สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นคอมมิวนิตี มากกว่าร้านกาแฟ
ซึ่งนอกจาก คอนเซปต์เรื่องการจับกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมทุกระดับแล้ว CP ยังได้เน้นกลยุทธ์ร้านกาแฟที่เป็นมากกว่าสถานที่ขายกาแฟอีกด้วย นั่นก็คือกลยุทธ์ “ดิจิตอล ไลฟ์สไตล์ คาเฟ” ของ TrueCoffee
TrueCoffee จะเน้นความเป็นสถานที่พบปะ ให้ลูกค้ามาจิบกาแฟแก้วโปรดคู่กับขนมอร่อย เพลิดเพลินกับอินเทอร์เน็ตฟรีไม่มีสะดุด ในการนั่งทำงานหรืออ่านหนังสือ
ดังนั้น TrueCoffee จึงเน้นทำเลไปที่อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย หรือตามห้างสรรพสินค้าที่มีคนพลุกพล่าน
นอกจากนี้ TrueCoffee ยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลด้วย TrueCoffee App ให้ลูกค้าชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมรับคะแนนสะสม เพื่อแลกรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ
- Star Coffee และ Chester’s Coffee แบรนด์ที่มาเพื่อเสริม Ecosystem ให้ร้านอาหารในเครือ CP เช่น ร้าน Chester’s ซึ่งก็มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าที่มาทานอาหารในร้านอยู่แล้วนั่นเอง
สรุปก็คือ การแตกแบรนด์กาแฟออกเป็นหลาย ๆ แบรนด์นั้น ก็เพื่อให้สามารถครอบคลุมกลุ่มลูกค้าให้ได้หลากหลายกลุ่มมากที่สุด
และถึงแม้ว่าบางแบรนด์จะดูเป็นแบรนด์เล็ก ๆ
แต่เมื่อนำสาขาของทุกแบรนด์ในอาณาจักร CP มารวมกันจะพบว่า มีจำนวนมากกว่า 7,500 สาขาเลยทีเดียว
ซึ่งกลยุทธ์การแตกหลาย ๆ แบรนด์
ก็มีส่วนสำคัญทำให้ CP ในตอนนี้ สามารถครองส่วนแบ่งตลาดกาแฟได้เป็นอันดับต้น ๆ ของไทย..
References:
-http://fic.nfi.or.th/FoodMarketShareInThailandDetail.php?id=293
-https://www.marketthink.co/7507
-https://www.thebangkokinsight.com/news/business/branding/125475/
-http://www3.truecorp.co.th/investor/entry/1548
-https://www.bltbangkok.com/news/30475/
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.