เกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเจอหมี หรือกระทิง มากกว่ากัน ?

เกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเจอหมี หรือกระทิง มากกว่ากัน ?

12 ก.ค. 2021
เกือบ 100 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเจอหมี หรือกระทิง มากกว่ากัน ? | THE BRIEFCASE
โดยทั่วไปภาวะตลาดหุ้นแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ ตลาดเป็นขาขึ้น ที่เรียกกันว่า ตลาดกระทิง (Bull Market) และตลาดขาลง หรือตลาดหมี (Bear Market)
ตลาดหุ้นที่อยู่ในภาวะตลาดกระทิง คือ เป็นช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดครั้งล่าสุดมากกว่า 20% ซึ่งการที่สภาพตลาดถูกเรียกว่าตลาดกระทิง เพราะว่าพฤติกรรมการโจมตีเหยื่อของกระทิงที่เวลาต่อสู้ กระทิงนั้นจะขวิดขึ้น เหมือนราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้น
สำหรับตลาดหุ้นที่อยู่ในภาวะตลาดหมี คือ เป็นช่วงที่ดัชนีหุ้นที่ตกลงมาจากจุดสูงสุดครั้งล่าสุดมากกว่า 20% ซึ่งการที่สภาพตลาดถูกเรียกว่าตลาดหมี เพราะว่าพฤติกรรมการโจมตีเหยื่อของหมีที่เวลาต่อสู้ หมีนั้นจะใช้มือตะปบลง เหมือนราคาหุ้นที่ร่วงลงมา
โดยช่วงภาวะตลาดกระทิงนั้น มักจะมีสถานการณ์ที่บ่งชี้ต่าง ๆ ดังนี้
- ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตหรือฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
- ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโต
- ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจ
ขณะที่ถ้าเกิดสิ่งที่ตรงข้ามกับสถานการณ์ข้างต้น เช่น
- ภาวะเศรษฐกิจกำลังถดถอยหรือตกต่ำอย่างรวดเร็ว
- ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลง
- ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และนักลงทุนกำลังขาดความเชื่อมั่น
เราก็มักจะเห็นปัจจัยเหล่านี้ในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะตลาดหมี
ทีนี้เราลองมาดูสถิติของภาวะตลาดกระทิงและตลาดหมีที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ที่ถือเป็นตัวแทนภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดทุนทั่วโลก
โดยเราจะใช้การเคลื่อนไหวของดัชนี S&P 500 ที่คิดคำนวณจาก การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ 500 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา เป็นตัวแทนการเคลื่อนไหวของตลาด
ในช่วงปี ค.ศ. 1929-2020
- เกิดภาวะตลาดหมีทั้งหมด 26 ครั้ง ขณะที่เกิดภาวะตลาดกระทิงทั้งหมด 27 ครั้ง
- ระยะเวลาเฉลี่ยในการเกิดภาวะตลาดหมีทั้งหมด 9.6 เดือน ขณะที่ระยะเวลาเฉลี่ยในการเกิดภาวะตลาดกระทิงจะอยู่ที่ 2.7 ปี
- ผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงการเกิดภาวะตลาดหมีเท่ากับ -36% ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงการเกิดภาวะตลาดกระทิงเท่ากับ 112%
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ แล้วในช่วง 91 ปีที่ผ่านมา ภาวะตลาดหมีและตลาดกระทิงที่ยาวนานที่สุด เกิดขึ้นในช่วงไหนบ้าง ?
ช่วงเวลาที่เกิดภาวะตลาดหมียาวนานที่สุดเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1973-1974 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศประสบกับภาวะถดถอย
โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤติการณ์ราคาน้ำมัน หลังจากกลุ่ม OPEC ได้ยุติการส่งออกน้ำมันให้แก่ประเทศที่ให้เงินสนับสนุนแก่อิสราเอล ที่ขณะนั้นกำลังมีปัญหากับสมาชิก OPEC
ปริมาณการส่งออกน้ำมันที่ลดลงในตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันนั้นปรับขึ้นจาก 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 4 เท่าภายในระยะเวลา 1 ปี ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาการใช้น้ำมันมาก ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา เข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 1974
ดัชนี S&P 500 ปรับลดลงจากต้นปี 1973 ที่เท่ากับ 119 จุด เหลือเพียง 70 จุด ณ ปลายปี 1974 หรือลดลงกว่า 41% ซึ่งการเกิดภาวะตลาดหมีในครั้งนี้คิดเป็นช่วงเวลาประมาณ 1.7 ปี
ขณะที่ในช่วงเวลาที่เกิดภาวะตลาดกระทิง หรือขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดในสหรัฐอเมริกา
เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2020 ที่ผ่านมานี่เอง
ดัชนี S&P 500 นั้น ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2009 ที่ประมาณ 1,000 จุด มาอยู่ที่เกือบ 4,000 จุด ในช่วงเวลาประมาณ 11 ปี
จุดเริ่มต้นของตลาดกระทิงที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ เป็นช่วงหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากผลกระทบของวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในช่วงระหว่างปี 2007-2008
ผลของวิกฤติในครั้งนั้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปต่ำสุดที่ 0.0-0.25% รวมไปถึงการใช้มาตรการ Quantitative Easing (QE) เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจต่อเนื่องเรื่อยมา
ดอกเบี้ยที่ต่ำหลายปี ทำให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจอยู่ในระดับต่ำ
เมื่อรวมกับนโยบายปฏิรูปภาษีสมัยอดีตประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือเพียง 20% ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทในตลาดหุ้นหลายบริษัท มีกำไรเติบโตขึ้นมาก
จนทำให้ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะตลาดกระทิงที่เติบโตอย่างยาวนานที่สุด ในประวัติของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา
จากเรื่องนี้ เราน่าจะพอสรุปได้ว่า ในช่วงเกือบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา
ในสหรัฐอเมริกา แม้ภาวะตลาดหมี (ขาลง) และตลาดกระทิง (ขาขึ้น) จะเกิดขึ้นในจำนวนใกล้เคียงกัน
แต่ระยะเวลาในการเกิดภาวะตลาดกระทิงจะยาวนานกว่าภาวะตลาดหมี และในระยะยาวแล้ว ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปรับตัวลดลง
แต่นอกจากภาวะตลาดหมีและตลาดกระทิงที่กล่าวถึงแล้วนั้น ในตลาดหุ้นยังมีภาวะตลาดอีกรูปแบบหนึ่งที่ ตลาดหุ้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นและลงมากนัก หรือยังไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ตลาดหุ้นจะปรับตัวไปในทิศทางใดอย่างชัดเจน
กรณีนี้ ภาวะตลาดจะถูกเรียกว่า เป็น Sideways Market
ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็น่าจะพอเข้าข่ายลักษณะดังกล่าว
รู้ไหมว่า กลางปี 2017 ดัชนีตลาดหุ้นของไทยเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 1,600 จุด ซึ่งใกล้เคียงกับปัจจุบัน
หมายความว่า เวลาผ่านไป 4 ปี ถ้าเราลงทุนผ่านกองทุนดัชนีที่อ้างอิง SET Index (ดัชนีตลาดหุ้นไทย)
เราอาจไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนลักษณะนี้มากเท่าไร เพราะตลาดหุ้นไทยแทบไม่ไปไหนเลย..
References:
-https://en.wikipedia.org/wiki/Market_trend
-https://www.invesco.com/us-rest/contentdetail?contentId=049233173f5c3510VgnVCM100000c2f1bf0aRCRD&audienceType=investors
-https://www.hartfordfunds.com/practice-management/client-conversations/bear-markets.html
-https://www.forbes.com/advisor/investing/bear-market-vs-bull-market/
-https://www.cazenovecapital.com/uk/financial-adviser/insights/talking-points/the-longest-bull-market-in-history-in-five-charts/
-https://en.wikipedia.org/wiki/1973%E2%80%931975_recession
-https://en.wikipedia.org/wiki/1973_oil_crisis
-https://en.wikipedia.org/wiki/1973%E2%80%931974_stock_market_crash
-https://www.macrotrends.net/2324/sp-500-historical-chart-data
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.