
ลาซาด้าเผยผู้ขายไทย 7 ใน 10 ราย ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมในการใช้ AI ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
10 เม.ย. 2025
• ผู้ขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉลี่ยนำ AI มาใช้เพียง 37% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมด
• ประเทศไทยมีการใช้ AI ในธุรกิจสูงเป็นอันดับสามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 39% ของผู้ขายออนไลน์ทั้งหมด ในขณะที่ประเทศที่มีการนำ AI มาใช้ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซสูงสุดโดยเฉลี่ย ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
• ลาซาด้า เปิดตัวคู่มือฉบับใหม่สำหรับผู้ขายรวบรวมแนวทางปฏิบัติ ข้อมูลเชิงลึก และองค์ความรู้เกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
กรุงเทพฯ, 9 เมษายน 2568 - ลาซาด้า ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับผู้ขายออนไลน์ในหัวข้อ“โอกาสจาก AI: เปิดมุมมองและเทรนด์การใช้งานAI ของผู้ขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Bridging the AI Gap: Online Seller Perceptions and Adoption Trends in SEA)” ซึ่งจัดทำร่วมกับกันตาร์ (Kantar) เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำนวน1,214 ราย ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อศึกษาแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยี AI รวมถึงความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นความพร้อมของผู้ขายในการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยรายงานเผยว่า 1 ใน 4 ของผู้ขายทั่วภูมิภาคมีความเชี่ยวชาญในการใช้งาน AI ในธุรกิจ ในขณะที่ 3 ใน 4 ของผู้ขายยังต้องการการสนับสนุนในการใช้ AI ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ช่องว่างระหว่างความรู้ การรับรู้ และการใช้งานเทคโนโลยี AI ของผู้ขายออนไลน์
รายงานพบว่า ผู้ขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี AI เป็นอย่างมาก โดยในประเทศไทย ผู้ขาย 46% ระบุว่ารู้จักเทคโนโลยี AI และเชื่อว่าได้นำ AI มาใช้ใน 54%ของกระบวนการดำเนินธุรกิจ แม้จะมีการใช้งานจริงเพียง 39% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ชัดเจนระหว่างการรับรู้และการนำ AI ไปใช้จริง โดยประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างการรับรู้และการนำ AI ไปใช้จริงสูงที่สุดในภูมิภาค อยู่ที่ราว 15% ชี้ให้เห็นโอกาสในการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ขายที่ยังมีอีกมาก
การประเมินความคุ้มค่าระหว่างประสิทธิภาพของ AI และต้นทุน ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ขายไทย แม้ว่า 99% จะตระหนักถึงศักยภาพของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ แต่กว่า 80% ยังคงไม่มั่นใจในประโยชน์ของ AI นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ขายในไทยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องค่าใช้จ่ายมากที่สุดในภูมิภาค โดย 84% กังวลกับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะของทีมงาน แม้ผู้ขายทุกรายจะเห็นว่าการใช้ AI ช่วยประหยัดต้นทุนของธุรกิจได้ในระยะยาว
ผลการศึกษายังเผยให้เห็นถึงช่องว่างของการนำAI มาประยุกต์ใช้จริง โดยชี้ให้เห็นว่าแม้ผู้ขายจะตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI แต่กลับประสบปัญหาในการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพผู้ขายไทย 100% เล็งเห็นศักยภาพของ AI ในการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน อย่างไรก็ตาม ผู้ขายกว่า 88% ยอมรับว่าพนักงานยังคงเลือกใช้เครื่องมือที่คุ้นเคยมากกว่าการเปลี่ยนไปใช้โซลูชัน AI ใหม่ ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากระบบการทำงานแบบที่คุ้นเคย สู่การปรับมาใช้โซลูชัน AI ในการดำเนินธุรกิจ
ระดับความพร้อมในการใช้ AI ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
ในระดับภูมิภาค อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ AI ในธุรกิจ ด้วยอัตราการใช้งาน 42% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ตามด้วยสิงคโปร์และไทยที่มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 39% รายงานยังได้วิเคราะห์การนำ AI มาใช้ใน 5 ส่วนหลักในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การจัดการการดำเนินงานและโลจิสติกส์ การบริหารจัดการสินค้า การตลาดและการโฆษณา การบริการลูกค้า และการบริหารจัดการบุคลากร โดยได้แบ่งผู้ขายออกเป็น 3 ประเภท คือ มือโปรด้าน AI (AI Adepts) มือใหม่ด้าน AI (AI Aspirants)และมือดั้งเดิม ไม่แตะ AI (AI Agnostics) โดยพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยในแต่ละด้านของการดำเนินธุรกิจที่สะท้อนถึงระดับความพร้อมในการใช้งาน AI
• มือโปรด้าน AI (AI Adepts): ผู้ขายที่ประยุกต์ใช้ AI ในอย่างน้อย 80% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจ และถือเป็นกลุ่มผู้นำของการใช้งาน AI โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ขายเพียง 1ใน 4 (24%) ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้
• มือใหม่ด้าน AI (AI Aspirants): ผู้ขายที่นำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจบางส่วน แต่ยังคงพบกับความท้าทายในการใช้งานในส่วนที่สำคัญ โดย 50% ของผู้ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดอยู่ในกลุ่มนี้
• มือดั้งเดิม ไม่แตะ AI (AI Agnostics): ผู้ขายที่ยังไม่มีการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดย26% ของผู้ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้
เมื่อพิจารณาภาพรวมของภูมิภาค ผู้ขายส่วนใหญ่ (76%) จัดอยู่ในกลุ่มมือใหม่ด้าน AI (AI Aspirants) และมือดั้งเดิม ไม่แตะ (AI Agnostics) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการโซลูชันด้าน AI ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI (42%) และการสนับสนุนผู้ขายอย่างครบวงจรยิ่งขึ้น (41%)
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีผู้ขายที่อยู่ในสัดส่วนของกลุ่มมือโปรด้าน AI (AI Adepts) มากที่สุดในภูมิภาค โดยมีผู้ขาย 30% ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นผลจากความเชื่อมั่นและการยอมรับในเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้งาน AI ซึ่งช่วยให้กระตุ้นการใช้ AI อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการนำ AI มาใช้สูงสุดในการจัดการดำเนินธุรกิจและงานด้านโลจิสติกส์ ด้วยอัตราการใช้งานสูงถึง 42% โดยเฉพาะในกระบวนการที่ซับซ้อน เช่น การคืนสินค้าและการคืนเงิน รวมถึงการติดตามสินค้า ซึ่งได้มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้แล้ว ในขณะที่การนำ AI มาใช้ในด้านการตลาดและการบริหารจัดการด้านสินค้ายังคงมีอัตราการใช้งานที่ต่ำกว่า (38%) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ฟังก์ชันที่ช่วยวิเคราะห์การรีวิวจากลูกค้า และการใช้ AI เข้ามาช่วยสร้างสรรค์งานโฆษณา ถือเป็นด้านที่ผู้ขายต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม
เจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ปกล่าวว่า “รายงานของเราเผยให้เห็นถึงช่องว่างที่น่าสนใจในอีโคซิสเต็มของอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าผู้ขายส่วนใหญ่จะเข้าใจถึงศักยภาพของ AI ในการพลิกโฉมธุรกิจ แต่หลายคนก็ยังเพิ่งเริ่มต้นทำความเข้าใจเทคโนโลยีนี้ ก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริง ในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาซาด้า มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ผู้ขายสามารถต่อยอดความรู้ด้าน AI ไปสู่การใช้งานจริง ผ่านการพัฒนาโซลูชัน AI ที่ตอบโจทย์ความท้าทายของผู้ขายในแต่ละตลาดที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อทำให้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงผู้ขายรายใหญ่หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเท่านั้น ด้วยเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน”
การใช้ประโยชน์จากโซลูชัน AI ของลาซาด้า เพื่อพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจ
เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขายสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพ ลาซาด้า ยังได้เปิดตัว “คู่มือการเตรียมพร้อมด้าน AI สำหรับผู้ขายออนไลน์ (Online Sellers Artificial Intelligence Readiness Playbook)” ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแนะแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับระดับความพร้อมด้าน AI ของผู้ขายแต่ละราย โดยการศึกษาได้เผยให้เห็นว่า ผู้ขายได้เริ่มนำโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI บนแพลตฟอร์มของลาซาด้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของลาซาด้าในการลงทุนในนวัตกรรม AI ที่ทันสมัยและพัฒนาเครื่องมือขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการดำเนินงานของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ขาย
ที่ผ่านมา ผู้ขายกว่า 67% แสดงความพึงพอใจเป็นอย่างมากกับฟีเจอร์ AI บนแพลตฟอร์มลาซาด้าล่าสุด ลาซาด้า จึงได้เตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ Generative AI (GenAI) ใหม่ที่ออกแบบมา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ขายและพัฒนารายการสินค้าซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนในการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มยอดขาย เช่น
1. ฟีเจอร์การสร้างรายการสินค้าด้วย AI (AI Smart Product Optimisation): เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GenAI นี้จะช่วยแนะนำผู้ขายในการปรับปรุงรายการสินค้าให้น่าดึงดูดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อผลิตภัณฑ์ คำอธิบาย ตลอดจนรูปภาพ โดยผู้ขายสามารถสร้างสรรค์ภาพของผลิตภัณฑ์ระดับมืออาชีพได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งประกอบด้วย ฟีเจอร์การลองสินค้าเสมือนจริง (Virtual Try-Ons) การปรับแต่งพื้นหลัง (Background Modifications) และการปรับเปลี่ยนโมเดลอัตโนมัติ (Model Adjustments)
2. ฟีเจอร์แปลภาษา (AI-Powered Translations): ฟีเจอร์แปลภาษาจะช่วยแปลเนื้อหาผลิตภัณฑ์เป็นภาษาต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ขายสามารถขยายการเข้าถึงไปยังตลาดที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
3. ผู้ช่วยการขาย Lazzie Seller: ผู้ช่วยแชทบอท AI จาก Alibaba Seller Centre (ASC) จะช่วยตอบคำถามที่พบบ่อยได้ในทันที พร้อมแนะนำฟีเจอร์หลักที่เหมาะสม การประเมินความเสี่ยงของร้านค้า และให้คำแนะนำทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเติบโตของผู้ขาย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลด “คู่มือการเตรียมพร้อมด้าน AI สำหรับผู้ขายออนไลน์ (Online Sellers Artificial Intelligence Readiness Playbook)” เพื่อศึกษาแนวทางและคำแนะนำในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อผลักดันการเติบโต เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์นวัตกรรมในโลกอีคอมเมิร์ซที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
ฟีเจอร์ AI ที่มีให้บริการบนแพลตฟอร์มลาซาด้าสำหรับผู้ขาย
1. เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจของลาซาด้า (Lazada Business Advisor): เครื่องมือวิเคราะห์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยให้ผู้ขายสามารถพัฒนายอดขายและผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ขายลาซาด้าเกือบ 7ใน 10 รายงานความพึงพอใจอย่างมาก และเกือบครึ่งของผู้ขาย (48%) ใช้เครื่องมืออย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามเทรนด์และใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ
2. เครื่องมือโปรโมตสินค้าบนลาซาด้า (Lazada Sponsored Solutions): เครื่องมือที่ช่วยโฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มการมองเห็นของสินค้า และเพิ่มยอดขายผ่านคำแนะนำจาก AI โดยมี 2 ใน 3 ของผู้ขาย (67%) พึงพอใจกับแพลตฟอร์มนี้ และ 46% ของผู้ขายใช้เครื่องมือนี้เป็นประจำ และยอมรับว่าเครื่องมือนี้ช่วยผลักดันยอดขายให้เติบโตยิ่งขึ้น
3. AI Smart Listing: เครื่องมือ Generative AI ที่จัดทำรายการสินค้าให้อัตโนมัติ เพียงป้อนข้อมูลหรือคุณลักษณที่โดดเด่น เช่น รูปภาพ และคีย์เวิร์ด ผู้ขายถึง 64% รายงานความพึงพอใจในการใช้งานฟีเจอร์นี้ เพราะช่วยประหยัดเวลาในการจัดรายงานสินค้า และปรับปรุงคุณภาพเนื้อหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. Virtual Try-Ons: ฟีเจอร์ที่ออกแบบมาให้นักช้อปได้ลองสินค้าแบบเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยี AI และ AR แบบเรียลไทม์ เพิ่มความมั่นใจในการซื้อสินค้า และลดการคืนสินค้า ผู้ขายถึง 62% แสดงความพึงพอใจอย่างมากต่อประสิทธิภาพของฟีเจอร์นี้ และ 42% ใช้งานฟีเจอร์นี้อย่างสม่ำเสมอ
5. AI Selling Points: เครื่องมือที่วิเคราะห์ข้อมูลผลิตภัณฑ์และพฤติกรรมลูกค้า เพื่อเน้นคุณสมบัติเด่นของผลิตภัณฑ์โดยอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มยอดขายของร้านค้า โดยผู้ขาย 68% แสดงความพึงพอใจอย่างมากต่อฟีเจอร์นี้ และ 42% ใช้งานอย่างสม่ำเสมอเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้านค้าออนไลน์ของตน
6. Lazada IM Shop Assistant (LISA): เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่ช่วยผู้ขายสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยการตอบคำถามอัตโนมัติ ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการและเพิ่มยอดขาย โดยผู้ขาย 65% พึงพอใจกับฟีเจอร์นี้ และ38% ใช้งานเป็นประจำ
เกี่ยวกับรายงานผลการวิจัย
รายงาน “โอกาสจาก AI: เปิดมุมมองและเทรนด์การใช้งาน AI ของผู้ขายออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Bridging the AI Gap: Online Seller Perceptions and Adoption Trends in SEA)” ซึ่งลาซาด้า จัดทำร่วมกับ กันตาร์ (Kantar) เพื่อศึกษาแนวโน้มการใช้งานเทคโนโลยี AI และสำรวจความท้าทายและโอกาสต่าง ๆ จากการใช้ประโยชน์จาก AI ของผู้ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการผลักดันการเติบโตและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางโลกอีคอมเมิร์ซที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รายงานฉบับนี้ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำนวน 1,214 ราย ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
รายงานฉบับนี้ได้สืบเนื่องต่อจาก รายงาน “การใช้เทคโนโลยี AI ในอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Artificial Intelligence Adoption in eCommerce in Southeast Asia)” แรก ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำร่วมกับ กันตาร์ (Kantar) โดยสำรวจความคิดเห็นของนักช้อปกว่า 6,000 คนในภูมิภาค เมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจการใช้งาน AI บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของผู้บริโภค โดยวิเคราะห์การรับรู้ ความไว้วางใจและความชอบ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค และความท้าทายต่าง ๆ
เกี่ยวกับ ลาซาด้า กรุ๊ป
ลาซาด้า กรุ๊ป เป็นผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ลาซาด้าได้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ผ่านธุรกิจการค้าและเทคโนโลยี ปัจจุบันธุรกิจที่กำลังเติบโตนี้ได้เชื่อมโยงผู้ใช้งานเป็นประจำราว 160 ล้านราย เข้ากับผู้ขายที่ดำเนินธุรกิจอยู่มากกว่า 1 ล้านรายต่อเดือน ผ่านการทำธุรกรรมทางการเงินที่ปลอดภัย ด้วยช่องทางการชำระเงินต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้ รวมถึงลาซาด้าวอลเล็ต อีกทั้งยังรับบริการจัดส่งพัสดุจากเครือข่ายโลจิสติกส์ในประเทศที่กลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ลาซาด้า ประเทศไทย Email: press@lazada.com
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์: เวเบอร์ แชนด์วิค ประเทศไทย
รุ่งนภา ชาญวิเศษ (รุ่ง) โทร: 081-494-8131 อีเมล์: rungnapa@webershandwick.co.th
ถกลกร วีระพลานนท์ (แอ๊นท์) โทร. 092-465-4194 อีเมล์: tweeraplanonte@webershandwick.co.th