
3 ไอเดียธุรกิจ ที่ได้จากหนังสือ วิชาคนตัวเล็ก ใครก็เอาไปปรับใช้ได้
8 ต.ค. 2024
คงไม่บ่อยที่เราจะได้อ่านหนังสือสักเล่ม จากสำนักพิมพ์หนึ่ง ที่เขียนโดยเจ้าของสำนักพิมพ์นั้นเอง
แถมเนื้อหาในเล่ม ยังเขียนจากประสบการณ์และอินไซต์ ที่ได้จากการทำสำนักพิมพ์นี้ ของตัวผู้เขียนเอง
นี่คือความน่าสนใจของหนังสือเล่มที่ชื่อว่า “วิชาคนตัวเล็ก small rules” หนังสือที่เขียนโดย คุณพูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์วีเลิร์น
BrandCase มีโอกาสได้อ่านเล่มนี้ และคิดว่ามีหลายเรื่องมาก ๆ ที่ผู้อ่านทุกคนน่าจะเอาไปปรับใช้กันได้
โดยเฉพาะในพาร์ต Business ที่ผู้เขียนเล่าจากประสบการณ์จริง อินไซต์จริง จากการทำสำนักพิมพ์นี้ตั้งแต่วันแรก
3 ไอเดียธุรกิจ ที่ได้จากหนังสือ วิชาคนตัวเล็ก มีอะไรบ้าง ?
BrandCase สรุปให้เป็นข้อ ๆ แบบเข้าใจง่าย ๆ
1. อย่าเอาแต่เชื่อผู้เชี่ยวชาญ 100%
คุณพูนลาภ เล่าว่า ช่วงที่สำนักพิมพ์วีเลิร์นยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ก็ไล่ดูว่าคนในวงการเขาคุยอะไรกัน เจอคนไหนดูเป็นผู้คร่ำหวอด ผู้รอบรู้ก็ถามหมด ว่าต้องทำหนังสือออกมาอย่างไรถึงจะขายดี
เสร็จแล้วแล้วเอาคำแนะนำของคนนอกมาลองใช้
แต่ผลคือ หนังสือ 3 เล่มแรกที่ออกมาของวีเลิร์น ก็ไม่ได้ขายดี
แต่จุดเปลี่ยนของวีเลิร์นคือ หนังสือเล่มที่ 4 ชื่อว่า คู่มือจับโกหก
ที่สร้างปรากฏการณ์ติดชาร์ตหนังสือขายดีทั่วประเทศ
คุณพูนลาภ บอกว่าความสำเร็จของหนังสือคู่มือจับโกหก ทำให้รู้ว่า วีเลิร์นต้องทำหนังสืออย่างไรถึงจะขายดี และการทำให้หนังสือออกมาขายดี มีกระบวนการในแบบตัวเองอย่างไร
และทำให้รู้ว่า คำแนะนำจากคนนอกที่ไม่ได้รู้บริบทของเรา ไม่รู้สถานการณ์ของเราตอนนั้น ไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจเราไปได้ดี เผลอ ๆ อาจทำให้เราหลงทางได้
สิ่งที่ได้จากเรื่องนี้คือ อย่าเอาแต่เชื่อผู้เชี่ยวชาญ 100%
ในการทำธุรกิจ เราฟังคำแนะนำคนอื่นที่เก่งกว่าเราได้
แต่ต้องดูบริบทของตัวเราเองด้วย ว่าเหมาะกับคำแนะนำนั้นไหม ซึ่งตัวเราเองคือคนที่เข้าใจบริบทของธุรกิจเรา ดีที่สุด
2. ขายอรรถประโยชน์ VS ขายความรู้สึก
ขายอรรถประโยชน์ = ความคุ้มค่าที่ลูกค้าได้รับ
ขายความรู้สึก = ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับ
คุณพูนลาภ เล่าว่า ที่สำนักพิมพ์วีเลิร์นเวลาคิดคอนเซปต์ จะวางชัดเจนว่าหนังสือแต่ละเล่มมีเป้าหมายในการขายแบบไหน โดยอิงจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของหนังสือ
-การขายอารมณ์ความรู้สึก เหมาะกับลูกค้าระดับที่มีกำลังซื้อสูง
-การขายอรรถประโยชน์ ขายความคุ้มค่า เหมาะกับลูกค้ากลุ่มแมสและตลาดกลาง ๆ มากกว่า
และการมาตีความสิ่งที่เราจะขาย ว่าต้องขายให้ลูกค้ากลุ่มไหน ด้วยคอนเซปต์แบบไหนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะชี้ชะตายอดขายหนังสือแต่ละเล่มได้เลย
ถ้าในมุมธุรกิจ เรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องการเข้าใจ Buyer Persona คือภาพลักษณ์ ภาพจำ ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรา ว่าเขาเป็นคนประมาณไหน
เช่น ลูกค้าเราหน้าตาประมาณไหน, เงินเดือนประมาณไหน, การแต่งตัวประมาณไหน, อายุประมาณเท่าไร, มีงานอดิเรกประมาณไหน
ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญ ของการทำแบรนด์ หรือพัฒนาสินค้าออกมาให้ตรงกับบริบทของลูกค้าเป้าหมาย
3. สมการความสำเร็จ = ความสามารถ x ความพยายาม x โชค
บทนี้คุณพูนลาภ พูดเหมือนกับหลาย ๆ คน คือ “โชค” มีผลต่อความสำเร็จจริง ๆ
แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้โชคดี ?
คุณพูนลาภ อ้างอิงงานของ ริชาร์ด ไวส์แมน ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดเชอร์ที่อังกฤษ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องโชคอย่างจริงจัง
และพบว่าคนโชคดีมีเงื่อนไข 4 ประการด้วยกัน
1.คนโชคดีจะออกไปหาโอกาส
2.คนโชคดีจะเชื่อสัญชาติญาณของตัวเอง
3.คนโชคดีคาดหวังว่าตัวเองจะโชคดี
4.คนโชคดีมองเห็นสิ่งดี ๆ ในเรื่องร้าย ๆ
ตรงนี้ทำให้คิดได้ว่า ถ้าเรามีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องโชคแบบนี้ เราจะไม่เอาแต่อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย รอเรื่องดี ๆ เข้ามาเอง
แต่เราจะกล้าวิ่งเข้าหาเรื่องใหม่ ๆ ลองคิด ลองทำอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอด
ซึ่งมันจะส่งเสริมให้เกิดสมการ “ความสามารถ x ความพยายาม x โชค”
ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจหรือเรื่องอะไร
ยิ่งเราใช้ความสามารถของเราเต็มที่ พยายามให้เต็มที่ และคูณด้วยโชคดีที่เข้ามา
สุดท้าย ความสำเร็จก็เป็นของเราได้..
Comment
หนังสือเล่มนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ให้แง่คิดได้ดีมาก ทั้งเรื่อง Business, Creativity, People
ซึ่งคุณพูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์วีเลิร์น ตกผลึกออกมาได้สนุก อ่านง่ายมาก
ใครสนใจอ่าน “วิชาคนตัวเล็ก small rules” แบบเต็ม ๆ ทั้งเล่ม ก็หาซื้อได้เลยตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรือในเว็บไซต์สำนักพิมพ์วีเลิร์น