ทำไมธุรกิจต้องทำ Utilization Rate ให้ได้สูง ๆ อธิบายเรื่องนี้ ด้วยเคสโรงงาน กับสายการบิน

ทำไมธุรกิจต้องทำ Utilization Rate ให้ได้สูง ๆ อธิบายเรื่องนี้ ด้วยเคสโรงงาน กับสายการบิน

16 ก.ย. 2024
Utilization Rate อธิบายง่าย ๆ ก็คือ อัตราการผลิตจริง เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตสูงสุดที่ธุรกิจจะทำได้
ยกตัวอย่างการคำนวณให้เห็นภาพ เช่น
- โรงงานผลิตเสื้อ
ที่สามารถผลิตเสื้อได้เต็มกำลังที่ 1,000 ตัวต่อวัน
แต่ในวันนั้น โรงงานผลิตเสื้อผลิตได้ 700 ตัว
ดังนั้น Utilization Rate ของโรงงานผลิตเสื้อ
จะเท่ากับ (700 / 1,000) x 100 = 70%
นอกจากในโรงงานผลิตแล้ว Utilization Rate ยังถูกนำไปใช้ในเคสอื่นด้วย อย่างเช่น
- ธุรกิจสายการบิน
ที่เครื่องบิน 1 ลำ สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 500 คน
แต่ในบางเที่ยวบิน เครื่องบินลำนี้สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 250 คนเท่านั้น
ดังนั้น Utilization Rate (ในธุรกิจสายการบินเรียก Lead factor)
จะเท่ากับ (250 / 500) x 100 = 50%
จะเห็นว่า Utilization Rate เป็นตัวที่บอกว่า เราสามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ ไปใช้ในการทำธุรกิจได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน
ซึ่ง Utilization Rate ยิ่งมากเท่าไร ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจของเรา มีอัตรากำไรเพิ่มมากขึ้น
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
อย่างที่เรารู้กันดีว่า ในการทำธุรกิจนั้น จะมีต้นทุนอยู่ทั้งหมด 2 แบบ นั่นคือ
- ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)
- ต้นทุนผันแปร (Variable Cost)
ต้นทุนคงที่ ก็คือ ต้นทุนที่ไม่ว่าสินค้าจะผลิตน้อยหรือมากแค่ไหน ค่าใช้จ่ายนี้ก็จะเกิดขึ้นเสมอ
ต้นทุนผันแปร ก็คือ ต้นทุนที่แปรผันไปกับการผลิตสินค้า เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ
ยกตัวอย่างเช่น
- ธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า
ต่อให้เราจะผลิตสินค้าได้ 100 ชิ้น หรือจะผลิตได้เต็มกำลัง 1,000 ชิ้น ต่อวัน
ก็จะมีต้นทุนคงที่ อย่างเช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าที่ หรือค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร ที่ต้องจ่ายเท่าเดิมทุกวันหรือทุกเดือน
- ธุรกิจสายการบิน
ต่อให้ใน 1 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารบินสัก 10 คน หรือเต็มลำที่ 500 คน
อย่างไรเราก็มีต้นทุนคงที่ อย่างเช่น ค่าน้ำมัน เงินเดือนกัปตันและแอร์โฮสเตส หรือค่าลงจอดสนามบินที่เท่ากันไม่ว่าจะมีผู้โดยสารเต็มหรือไม่เต็มลำก็ตาม
ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องหาทางพยายามทำให้ Utilization Rate เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งเข้าใกล้ 100% เท่าไร ก็ยิ่งดี
ในธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า ที่จะต้องพยายามผลิตสินค้าให้เต็มกำลัง 100%
คือ โรงงานมีกำลังการผลิต 1,000 ชิ้น ก็ต้องพยายามผลิตให้ได้เต็มกำลังที่ 1,000 ชิ้น
หรือในธุรกิจสายการบิน ก็ต้องพยายามทำให้มีผู้โดยสาร สามารถขึ้นมาบินได้เต็มลำนั่นเอง
ซึ่งด้วยธรรมชาติของธุรกิจสายการบินแล้ว ต้นทุนคงที่ในการขึ้นบินแต่ละครั้ง เป็นต้นทุนที่สูง
ทำให้ถ้าหากว่าเที่ยวบินโดยสารนั้น มีผู้โดยสารที่น้อยมาก ๆ คือมี Utilization Rate ต่ำ
ก็อาจทำให้การขึ้นบิน 1 ครั้ง ไม่คุ้มค่า หรืออาจจะขาดทุนจากการขึ้นบินได้
-อีกเคสหนึ่งก็คือ เคสโรงงานผลิตเสื้อ
สมมติว่า โรงงานผลิตเสื้อของเราสามารถผลิตเสื้อได้เต็มกำลังที่ 20,000 ตัวต่อเดือน
แต่อยู่มาเดือนหนึ่ง ที่โรงงานต้องผลิตตามออร์เดอร์จากลูกค้า 25,000 ตัว ซึ่งแบบนี้ก็ถือว่าเกินกำลังการผลิต
ถ้าหากว่า เราตัดสินใจขยายโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
การตัดสินใจแบบนี้ เจ้าของธุรกิจจะต้องรู้ล่วงหน้า
ว่าในอนาคตจะมียอดสั่งผลิตเสื้อผ้า ที่เดือนละ 25,000 ตัว สม่ำเสมอทุก ๆ เดือน
เพราะถ้ายอดผลิตเสื้อผ้า 25,000 ตัวต่อเดือน เป็นยอดชั่วคราวที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้งนั้น
การขยายโรงงานผลิตสินค้า ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น
เช่น ถ้ายอดผลิตเสื้อตกลงมาเหลือ 20,000 ตัว ในขณะที่มีกำลังการผลิต 25,000 ตัวต่อเดือน
ก็เท่ากับว่า โรงงานผลิตเสื้อมี Utilization Rate เหลืออยู่แค่ (20,000 / 25,000) x 100 = 80% เท่านั้น
ซึ่งการทำแบบนี้ ก็จะทำให้โรงงานผลิตมีต้นทุนคงที่ อย่างค่าเช่าที่ หรือค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ
ดังนั้น ถ้าโรงงานผลิตมียอดออร์เดอร์สินค้าที่บวมขึ้น เกินกำลังผลิตชั่วคราว
เจ้าของธุรกิจ ก็อาจจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ เช่น ให้พนักงานทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อผลิตงานให้ได้ตามเป้าหมาย
ทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องของ Utilization Rate ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ
ยิ่งมี Utilization Rate มากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ มีอัตรากำไรมากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งนอกจาก Utilization Rate จะถูกนำไปใช้ เป็นตัวชี้วัดทางธุรกิจ ในเคสโรงงานผลิตสินค้าและสายการบินแล้ว
Utilization Rate ก็ยังถูกนำไปใช้ในธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายธุรกิจ
อย่างเช่น
- ธุรกิจโรงแรม Utilization Rate ก็คือ อัตราการจองห้องพัก หรือ Occupancy Rate
- ธุรกิจโรงพยาบาล Utilization Rate ก็คือ อัตราการครองเตียง
- ธุรกิจโรงเรียนเอกชน Utilization Rate ก็คือ อัตราส่วนนักเรียน ต่อความจุของโรงเรียน
- ธุรกิจโรงไฟฟ้า Utilization Rate ก็คือ กำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จริง ต่อกำลังการผลิตไฟฟ้า
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.