เราลงแรง แต่แฟนลงเงิน ผลประโยชน์ควรแบ่ง กันแบบไหน ? ประเด็นธุรกิจจากเรื่อง วิมานหนาม

เราลงแรง แต่แฟนลงเงิน ผลประโยชน์ควรแบ่ง กันแบบไหน ? ประเด็นธุรกิจจากเรื่อง วิมานหนาม

30 ส.ค. 2024
*หมายเหตุสำคัญ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ ขอcเรื่อง วิมานหนาม
วิมานหนาม คืออีกภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้ และมีประเด็นน่าสนใจให้เอามาคิด วิเคราะห์ ในมุมธุรกิจได้
ว่าถ้าเราเป็นคนลงแรงทำงาน แต่มีคนรักหรือมีคนอื่นเป็นคนลงเงินสร้างธุรกิจให้เรา ผลประโยชน์ที่ได้มา ควรแบ่งกันแบบไหน ?
แต่ย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ จำเป็นต้องมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของภาพยนตร์
ซึ่งถ้าใครพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลย..
ในภาพยนตร์ จะมีเนื้อหาสำคัญในมุมธุรกิจคือ
1. เสกและทองคำ เป็นคู่รักที่อยากทำสวนทุเรียนร่วมกัน
2. เสกและทองคำ ตกลงกันว่า
-ทองคำ จะเป็นคนลงเงินในการสร้างธุรกิจ คือลงทุนค่าใช้จ่ายในการทำสวนทุเรียนขึ้นมาให้ทั้งหมด 100%
-เสก จะเป็นคนลงแรงในการทำงานเท่านั้น
ซึ่งต้องหมายเหตุว่า จริง ๆ แล้ว ในภาพยนตร์มีการพูดประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่เข้ามาเกี่ยวกับธุรกิจสวนทุเรียนด้วย
แต่เพื่อให้ไม่มากประเด็นจนเกินไป เราขอละไว้ ไม่พูดถึงส่วนนั้น
มาเริ่มจากการทำความเข้าใจโครงสร้างธุรกิจที่ดีกัน.. โดยสมมติว่าเราทำธุรกิจ แล้วจดทะเบียนเป็นบริษัท
บริษัทที่ดีควรจะแบ่งโครงสร้างของ ผู้ถือหุ้น และคนทำงานให้ชัด โดยไม่เอาคำว่าผู้ถือหุ้น และพนักงาน มาปนกัน
ดังนั้นเราควรจะตกลงกันตั้งแต่แรกไปเลยว่า แต่ละคนจะถือหุ้นกันกี่เปอร์เซ็นต์
ส่วนใหญ่แล้ว การถือหุ้นมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินทุนที่ใส่เข้าไปในบริษัท โดยจะแบ่งการถือหุ้นเป็นสัดส่วนตามเงินทุนของแต่ละคน
เช่น เปิดบริษัทด้วยเงินทุนจดทะเบียน 1 แสนบาท
นาย A ใส่เงิน 7 หมื่นบาท นาย B ใส่เงิน 3 หมื่นบาท
นาย A ก็จะถือหุ้น 70%
นาย B ก็จะถือหุ้น 30%
ข้อที่ควรระวังก็คือ การถือหุ้น จะไม่ได้มีสิทธิ์ใช้จ่ายเงินของบริษัท จนกว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลออกมาให้แก่ผู้ถือหุ้น
ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าการเป็นผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินเดือนจากบริษัทด้วย
ดังนั้นถ้านาย A ใส่เงินไปในบริษัท 7 หมื่นบาท แต่ไม่ได้ทำงาน และไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัท ก็จะหมายความว่า นาย A ไม่สามารถรับค่าตอบแทนจากบริษัทได้
การที่นาย A จะได้รับผลตอบแทนก็คือ ต้องรอให้บริษัทมีกำไรสะสมตามเกณฑ์ และจ่ายเงินปันผลออกมาให้แก่นาย A
หรือถ้า นาย A อยากได้ผลตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างด้วย นาย A ก็ต้องลงแรงทำงานด้วย..
ส่วนนาย B เป็นคนทำงาน และถือว่าเป็นพนักงานของบริษัท บริษัทก็ควรมีโครงสร้างที่จ่ายเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนให้กับนาย B ให้เหมาะสม
“คำว่าเหมาะสม” หมายถึง เป็นค่าตอบแทนตามราคาตลาด ไม่ใช่เป็นค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาด
ถ้าทำได้เช่นนี้ นาย B ก็จะทำงานไปด้วยความเต็มใจ เพราะว่าระหว่างทำงานจะได้เงินเดือนที่เป็นค่าแรงไปด้วย ไม่มานั่งผิดหวังตอนหลังว่าลงแรงไปแล้วไม่ได้อะไรกลับมา
และเมื่อกิจการมีผลประกอบการที่ดีมีกำไร (หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงเงินเดือนของนาย B)
ก็สามารถปันผลเป็นเงินออกมาแบ่งให้ นาย A 70% และนาย B 30% ตามสัดส่วนการถือหุ้นได้
ทีนี้คำถามต่อไปก็คือ ถ้านาย B ไม่มีเงินทุนเลย มีแต่แรงทำงาน จะทำอย่างไรถ้านาย B อยากถือหุ้นในบริษัทด้วย
เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่าง นาย A กับ นาย B
เช่น เริ่มแรก นาย A อาจถือหุ้น 100% นาย B ถือหุ้น 0% โดยมีเงื่อนไขว่านาย A จะทำสัญญายินยอมโอนหุ้นให้แก่นาย B เมื่อนาย B ทำงานครบตามเวลาที่กำหนด หรือสามารถทำผลประกอบการได้เป็นไปตามเป้าหมาย
แต่ถึงแม้จะมีสัญญาโอนหุ้นในอนาคต แต่นาย B ก็ควรได้เงินเดือนที่เหมาะสมเป็นค่าตอบแทนการทำงานด้วยเช่นกัน
เพราะเมื่อมีปัญหาในภายหลัง แล้วนาย B ต้องออกจากบริษัทไป
อย่างน้อย นาย B ก็จะไม่เสียใจว่าทำงานฟรี เพราะได้ค่าตอบแทนจากค่าแรงไปเรียบร้อยแล้ว
สรุปแล้วการวางโครงสร้างบริษัทให้ชัด
ให้ผลตอบแทนแก่คนลงแรง
จัดสรรการถือหุ้นของบริษัทให้ลงตัว
ทั้งหมดนี้ก็จะสามารถเคลียร์ปัญหาสำหรับเพื่อนที่ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจที่บางคนลงแรง แต่บางคนลงแต่เงินทุนได้ นั่นเอง
ทีนี้พอมาจับกับไอเดียตามบทในภาพยนตร์ วิมานหนาม
-คือทองคำ จ่ายเงินลงทุนทำสวนทุเรียนทั้งหมด 100%
-ส่วนเสก เป็นคนลงแรงอย่างเดียว ไม่ลงเงิน
ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นในมุมธุรกิจคือ
-ทองคำ เป็นเจ้าของสวนทุเรียน และเป็นนายจ้างเสกให้เป็นลูกจ้างมาทำสวน
-เสก ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือนตามที่ยอมรับและเต็มใจจะทำงานได้
และถ้าหาก เสก สามารถทำสวนทุเรียน จนผลประกอบการดีมีกำไร
จนวันหนึ่ง เสก ก็อยากเข้ามามีส่วนในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินสวนทุเรียนนี้ด้วย
เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่าง ทองคำ และ เสก
เช่น เริ่มแรก ทองคำถือหุ้น 100% เสกถือหุ้น 0%
เมื่อเสกทำงานครบตามเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนด
ทองคำ ก็สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนหนึ่งตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ ให้กับเสก แบบนี้ก็ได้..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.