รามอินทรา จากไร่นา สู่ทำเลทอง โครงการอสังหาริมทรัพย์
11 พ.ย. 2023
“รามอินทรา” คือ ชื่อถนนสายหนึ่งของโซนกรุงเทพมหานครตอนเหนือ
ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน ย่านนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรม เช่นเดียวกับต่างจังหวัด
แต่ด้วยความเจริญที่เข้ามาแทนที่ ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นย่านที่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดตัวอย่างต่อเนื่อง
และมีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นมากขึ้นเรื่อย ๆ
รามอินทรา เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าใหญ่ ๆ คอมมิวนิตีมอลล์ รวมถึงโครงการหมู่บ้านหรู ระดับหลายสิบล้านบาท
แล้วเรื่องราวของรามอินทรา เป็นมาอย่างไร ?
BrandCase สรุปให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
“รามอินทรา” เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ซึ่งตั้งอยู่ในโซนกรุงเทพมหานครตอนเหนือ
โดยถนนสายรามอินทรา เริ่มจากบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ เขตบางเขน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธิน และถนนแจ้งวัฒนะ
แล้วตัดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านทางแยกซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนหลายสาย
และไปสิ้นสุดที่แยกเมืองมีน ซึ่งเชื่อมกับถนนสุวินทวงศ์และถนนสีหบุรานุกิจ ที่เขตมีนบุรี
ปัจจุบัน รามอินทรา เป็นย่านที่รถติดหนักที่สุดย่านหนึ่ง เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
แต่รู้หรือไม่ว่า ในอดีตประมาณ 50 ปีก่อน พื้นที่ย่านรามอินทรานั้นมีแต่เรือกสวน ไร่นา
เป็นพื้นที่ห่างไกล ที่อยู่ห่างจากใจกลางเมืองค่อนข้างมาก
อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ก็ยังไม่ค่อยสมบูรณ์
เรียกได้ว่า เป็นพื้นที่ที่มีภาพลักษณ์แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งพัฒนาการของความเจริญในย่านนี้ เริ่มมาจากการได้รับอิทธิพล การขยายตัวของเมือง
ในแนวถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดี-รังสิต ในเขตบางเขนและดอนเมืองก่อน
โดยในช่วงแรกการขยายตัวของย่านชุมชน จะกระจุกตัวอยู่บริเวณช่วงต้นของถนนรามอินทรา ซึ่งอยู่ใกล้กับถนนพหลโยธิน
ต่อมา เมื่อชุมชนเริ่มขยายตัวมากขึ้น จึงเริ่มมีการเข้ามาของศูนย์การค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทรา ที่เปิดให้บริการในปี 2536
บริเวณถนนรามอินทรา กม. 1 ซึ่งเป็นช่วงต้นของถนนรามอินทรา
- ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ เปิดให้บริการเมื่อปี 2538 และเดอะ พรอมานาด ที่เปิดให้บริการในปี 2555
บริเวณถนนรามอินทรา กม. 10 ใกล้ ๆ จุดตัดถนนรามอินทรากับถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก
- คอมมิวนิตีมอลล์ เดอะแจส รามอินทรา เปิดให้บริการในปี 2558
การที่มีศูนย์การค้าและคอมมิวนิตีมอลล์ เปิดตัวในแนวถนนรามอินทรา เพราะมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยของประชากรในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ทำเลแห่งนี้มีความต้องการซื้อสูง และมีศักยภาพมากเพียงพอ
จนทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนกับโครงการขนาดใหญ่ อย่างศูนย์การค้าในพื้นที่แห่งนี้
นอกจากศูนย์การค้าที่เข้ามาพลิกโฉมให้ย่านรามอินทรา กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้ว
การเกิดขึ้นของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ก็ช่วยให้ที่ดินในย่านนี้ น่าสนใจมากขึ้นเช่นกัน
ตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐาน ที่เข้ามาพลิกโฉมพื้นที่ย่านรามอินทรา ก็เช่น
- ทางพิเศษฉลองรัช เปิดใช้บริการเมื่อปี 2539
เป็นทางด่วนที่ช่วยให้การเดินทางเชื่อมเข้าสู่ย่านเอกมัย ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง สะดวกสบายมากขึ้น
- ถนนกาญจนาภิเษก หรือถนนวงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานคร เปิดใช้เมื่อปี 2541
เป็นถนนเลี่ยงเมืองที่ใช้เดินทางไปจังหวัดสมุทรปราการ หรือจังหวัดปทุมธานีได้
- รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวสายสุขุมวิท (ส่วนต่อขยาย คูคต-เคหะฯ) เปิดใช้เมื่อปี 2563
ซึ่งรถไฟฟ้าสายนี้ผ่านถนนพหลโยธิน และมีสถานี “วัดพระศรีมหาธาตุ” ที่ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ จุดเริ่มต้นของถนนรามอินทรา
ทำให้การเดินทางจากถนนรามอินทรา เข้าสู่ใจกลางเมืองมีทางเลือกมากขึ้น
และสิ่งที่เป็นไฮไลต์สำหรับย่านรามอินทราในปีนี้ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี)
ที่จะเปิดให้ทดลองใช้งานกลางเดือนพฤศจิกายนนี้
และมีแผนจะเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธันวาคม 2566
ซึ่งเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพูนี้ จะเริ่มตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
แล้วเลียบแนวถนนติวานนท์ ก่อนจะเลี้ยวเข้าแนวถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทราตลอดทั้งสาย
ก่อนจะไปสิ้นสุดที่สถานีมีนบุรี บริเวณริมถนนรามคำแหง
การที่มีรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้ามา ยิ่งทำให้ที่ดินบริเวณแนวถนนรามอินทราน่าจับตามองมากขึ้น
นอกจากนี้ ย่านรามอินทรายังมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง
ทั้งโรงพยาบาลและสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบ เช่น
- โรงพยาบาลสายหยุด, โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี
- โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ, โรงเรียนลาดปลาเค้าพิทยาคม และมหาวิทยาลัยเกริก
- สยามอะเมซิ่งพาร์ค หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สวนสยาม”
ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และการเจริญเติบโตของสังคมเมือง
ทำให้ราคาประเมินที่ดินในย่านรามอินทรา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยล่าสุด ราคาประเมินที่ดิน รอบบัญชีปี 2566-2569 ของกรมธนารักษ์
ตามแนวถนนรามอินทรา มีราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 170,000 บาท/ตารางวา
และด้วยความเจริญที่เข้ามาในพื้นที่เรื่อย ๆ ทำให้ย่านรามอินทรา กลายเป็นทำเลทองของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปโดยปริยาย
ทั้งโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดมิเนียมตามแนวถนนรามอินทรา
ตัวอย่างโครงการที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจ ก็เช่น
- โครงการเศรษฐสิริ เสรีไทย ของแสนสิริ ราคาเริ่มต้นที่ 13-25 ล้านบาท
- โครงการแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด รามอินทรา-เกษตรนวมินทร์ ราคาเริ่มต้น 35-60 ล้านบาท
เรียกได้ว่า จากแต่ก่อนพื้นที่ย่านรามอินทราที่มีแต่ท้องทุ่งไร่นา
ทุกวันนี้กลับกลายเป็นทำเลที่อยู่อาศัยที่หนาแน่น เป็นทำเลทองของโครงการอสังหาริมทรัพย์ อีกแห่งไปแล้ว..
References
-สรุปราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน รอบบัญชี ปี พ.ศ. 2566-2569 ของกรมธนารักษ์