สรุปโมเดล Reels เอาเงินจากไหน มาจ่ายให้ครีเอเตอร์
2 ส.ค. 2023
Reels คือคลิปวิดีโอสั้น ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram
ช่วงที่ผ่านมา มีครีเอเตอร์หลายคนออกมาแชร์ว่า สามารถทำรายได้จากการทำคลิปสั้น Reels มากถึงหลัก ล้านบาท ภายในระยะเวลาสั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม Facebook เพิ่งมีการประกาศออกมาว่า “ระบบแสดงรายได้ผิดพลาด” ส่งผลให้ระบบแจ้งยอดเงินที่ได้ เยอะเกินจริง..
เช่น กรณีของ คุณครีเอเตอร์ Thammachad Yothajul ที่บอกว่า
จากเดิมระบบแสดงรายได้อยู่ที่ 39,709 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,363,964 บาท
แต่เมื่อระบบปรับปรุงข้อมูลใหม่ ทำให้รายได้ลดลงเหลือเพียง 452 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแค่ราว 15,526 บาท
แต่ก็ต้องยอมรับว่าจากกระแสที่เกิดขึ้น ก็สามารถทำให้บางคนสนใจหันมาทำคลิป Reels มากขึ้นอยู่ดี เพราะเป็นอีกช่องทางในการหารายได้เสริม
ทีนี้สิ่งที่หลายคนอยากรู้ก็คือ Facebook จ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ที่ทำคลิป Reels อย่างไร ?
BrandCase สรุปรายละเอียดให้ แบบเข้าใจง่าย ๆ
โมเดลของ Reels คือ สร้างเป็นพื้นที่ตัวกลาง ที่เชื่อมต่อระหว่าง 2 ฝ่าย
ฝ่ายแรกคือ ครีเอเตอร์ ที่จะเอาคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นมาโพสต์
ฝ่ายที่สองคือ คนดู ที่จะเข้ามาเสพคอนเทนต์เหล่านั้นบนแพลตฟอร์ม
ทีนี้พอมีคอนเทนต์และคนเสพเยอะ ๆ ก็จะกลายเป็นแหล่งชุมชนที่สามารถ “ขายของ” ได้
โดยฝั่งครีเอเตอร์ที่อยากนำเสนอสินค้า รวมถึงโปรโมตคอนเทนต์ของตัวเองให้คนเห็นเยอะ ๆ ก็จะต้องจ่ายเงินให้ Reels แลกกับการที่คอนเทนต์นั้นของตัวเอง จะได้รับการโปรโมต
ซึ่งส่วนนี้ ก็คือแหล่งรายได้ของ Reels นั่นเอง
ซึ่งถามว่า Reels มีรายได้มากแค่ไหน ?
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของบริษัท Meta ที่เป็นผู้พัฒนา Reels บอกว่า
ทุกวันนี้ Reels มีคนดู 200,000 ล้านครั้ง ต่อวัน และมีรายได้ทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 340,000 ล้านบาท..
ประเด็นก็คือ มันก็จะมีครีเอเตอร์อีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้อยากขายของ ไม่ได้จ่ายเงินเพื่อโปรโมตวิดีโอของตัวเอง
แต่ครีเอเตอร์หลาย ๆ คนในกลุ่มนี้ มีฐาน Followers จำนวนมาก และมีความสามารถในการทำคอนเทนต์ดึงดูดให้คนมาเล่น มาใช้เวลาใน Reels เยอะ ๆ ได้
เพราะฉะนั้น Reels ก็จะให้รางวัลครีเอเตอร์ประเภทนี้ ด้วยการ “แบ่งรายได้” ที่ Reels ได้มา
เพื่อดึงให้ครีเอเตอร์เหล่านี้ สร้างคอนเทนต์ดี ๆ บน Reels ต่อไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
แต่ต้องบอกไว้ก่อนเลยว่า ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดการจ่ายเงินให้ครีเอเตอร์ที่ลง Reels ออกมาอย่างชัดเจน
เพราะรายได้ที่ครีเอเตอร์จะได้รับ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
ยอดรับชม Reels, ยอดผู้ติดตามเพจ, ยอดการกดไลก์ กดแชร์, ประเภทของโฆษณาที่แสดง
แล้วลักษณะการแสดงโฆษณาบน Reels เป็นแบบไหน ?
อ้างอิงจาก การแสดงโฆษณาใน Reels บน Facebook จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1. โฆษณาแบบ โอเวอร์เลย์
ลักษณะนี้ จะมีแบนเนอร์หรือแท็ปโฆษณาขึ้นมาซ้อนบนคลิป Reels ของครีเอเตอร์ ที่หลายคนจะเคยเห็นว่ามีเหมือนสติกเกอร์เล็ก ๆ วางอยู่ด้านบนสุด หรือด้านล่างสุดของคลิป
2. โฆษณาคั่น
เป็นโฆษณาที่แสดงหลังจากคลิป Reels ของครีเอเตอร์ เล่นวนซ้ำไปแล้ว 2 รอบ โดยอยู่ในรูปแบบวิดีโอความยาวประมาณ 4-15 วินาที และสามารถกดข้ามได้
แล้วใครบ้างที่สามารถสร้างรายได้จาก คลิป Reels ?
จากประกาศของ Facebook พบว่า ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา คลิป Reels สามารถสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า Reels Play
โดยที่โปรแกรม Reels Play บน Facebook จะจ่ายโบนัสให้กับครีเอเตอร์บน Facebook ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด
คือ เป็นครีเอเตอร์ที่มียอดรับชม Reels อย่างน้อย 1,000 ครั้งในช่วง 30 วัน บน Facebook Reels
และระบบ Reels Play จะเปิดให้สร้างรายได้เฉพาะผู้ใช้งานหรือครีเอเตอร์บางรายเท่านั้น
โดยมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น
- มีการจัดกิจกรรมออนไลน์แบบมีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม
- มีการจ่ายเงินฟีเชอร์ดาว หรือการสมัครสมาชิกในเพจ Facebook
- คลิปวิดีโอหรือคอนเทนต์ใน Reels มีเนื้อหาเกี่ยวกับธุรกิจ การสร้างแบรนด์ โดยสามารถรับสปอนเซอร์ได้
และมีเงื่อนไขสำคัญก็คือ วิดีโอที่เอามาลง Reels จะต้องเป็นออริจินัลคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่วิดีโอที่เอามาจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ มารีโพสต์
ทั้งหมดนี้ก็คือ รายละเอียดโมเดลการทำรายได้ และให้รายได้แก่ครีเอเตอร์ของ Reels
ซึ่งถ้าลองคิด ๆ กันดู จากกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ว่าคนทำ Reels แค่เดือนเดียว ได้เงินหลักล้าน แต่สุดท้ายกลับเป็นความผิดพลาดของระบบ
คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากกระแสนี้ ก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เจ้าของ Reels อย่าง Meta เจ้าของ Facebook และ Instagram
เพราะกระแสที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นตัวจุดไฟ ให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่ สนใจเข้ามาโพสต์วิดีโอใน Reels กันมากขึ้น นั่นเอง..
References