ญี่ปุ่น ปลดล็อกท้องถิ่นอย่างไร ให้ใช้พลังของตัวเอง ได้เต็มที่

ญี่ปุ่น ปลดล็อกท้องถิ่นอย่างไร ให้ใช้พลังของตัวเอง ได้เต็มที่

26 พ.ค. 2023
ญี่ปุ่น ปลดล็อกท้องถิ่นอย่างไร ให้ใช้พลังของตัวเอง ได้เต็มที่ | BrandCase
รู้หรือไม่ว่า โครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ One Village One Product (OVOP) ในประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นตัวอย่างให้ OTOP ของไทย
เกิดขึ้นที่แรก ที่หมู่บ้านโอยามะ จังหวัดโออิตะ และได้รับการผลักดันจนเป็นนโยบายระดับประเทศ
นี่เป็นแค่ตัวอย่างแรก ที่สะท้อนว่า
ท้องถิ่นญี่ปุ่น สามารถใช้พลังของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างอะไรใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและประเทศได้
ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ เพราะ ญี่ปุ่น เริ่มกระจายอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลาง ไปให้ท้องถิ่นช่วยดูแลมากขึ้น มาเป็นร้อยกว่าปีแล้ว
ทีนี้คำถามคือ ญี่ปุ่น กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นอย่างไร
แล้วเทียบกับไทยตอนนี้ เป็นอย่างไร ?
BrandCase จะสรุปให้อ่านกัน
ญี่ปุ่น เริ่มมีการกระจายอำนาจ ตั้งแต่ยุคเมจิ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หรือก็คือ ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย
โดยก่อนหน้านั้น รัฐบาลกลาง ยังเป็นผู้กำหนดนโยบายให้ทุกภาคส่วนของประเทศ เช่น สิ่งเพาะปลูกต่าง ๆ ของประชาชนในท้องถิ่น
ซึ่งต้องบอกว่าในเวลานั้น แต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่น ยังคงเป็นเพียงชุมชนหรือหมู่บ้านขนาดเล็ก ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นสังคมเมืองเท่าไรนัก
ในช่วงเวลานั้นเอง รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะควบคุมชุมชนดั้งเดิม
ที่มีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ๆ ให้เป็นเทศบาลต่าง ๆ ที่มีขนาดประมาณ 300-500 ครัวเรือน
ภายหลังจากการควบรวมชุมชนดั้งเดิม ก็ทำให้ญี่ปุ่น
สามารถควบรวมชุมชน หรือหมู่บ้านต่าง ๆ กว่า 71,314 แห่ง
ให้กลายเป็นเทศบาล 15,859 แห่งในปี 1889
โดยเทศบาลต่าง ๆ นั้นก็ยังขึ้นอยู่กับรัฐบาลจากส่วนกลางเป็นหลัก โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ดูแลหลัก ประจำพื้นที่นั้น ๆ
ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ญี่ปุ่น ต้องการจะฟื้นฟูประเทศ
ซึ่งในช่วงเวลานั้น ญี่ปุ่น ก็ได้เริ่มนำรูปแบบการปกครองแบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตามรูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา
โดยญี่ปุ่น ได้เริ่มออกกฎหมายท้องถิ่น ที่มีชื่อว่า Local Autonomy ขึ้นในปี 1947
ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ก็ได้กำหนดโครงสร้างใหม่ของการบริหารส่วนท้องถิ่น
โครงสร้างที่ว่า คือการกระจายอำนาจของรัฐบาลกลาง ไปให้องค์กรท้องถิ่น ช่วยดูแลมากขึ้น
เช่น เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข ไปจนถึงเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น
และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ในพื้นที่ของตัวเอง
พร้อมกับยกเลิกกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูแลกิจการของแต่ละท้องถิ่นต่าง ๆ
และเปลี่ยนไปเป็นกระทรวงกิจการภายใน ที่มีหน้าที่ควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นแทน
ในเวลาต่อมา ทางรัฐบาลญี่ปุ่น ก็ยังพัฒนากฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเทศบาลมากขึ้น
ด้วยการออกกฎหมายควบรวมเทศบาลขนาดเล็ก (Municipal Merger Promotion Law) ในปี 1953
เพื่อให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณ ไปกับหลาย ๆ เทศบาล มากเกินความจำเป็น
และสามารถออกนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับคนในพื้นที่
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลกลางญี่ปุ่นก็ยังเปิดโอกาสให้เทศบาล ที่มาควบรวมกัน มีอำนาจหน้าที่ในการทำภารกิจต่าง ๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น เช่น
-การอนุญาตให้เทศบาลที่ควบรวมกันแล้ว มีประชากรมากกว่า 8,000 คน สามารถจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้
การปรับโครงสร้างแบบนี้ ทำให้จำนวนเทศบาลในญี่ปุ่น ลดลงเหลือเพียง 3,472 เทศบาล
หรือลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนเทศบาลในญี่ปุ่นทั้งหมด
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1960s เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเติบโตขึ้น
คนหนุ่มสาวเริ่มย้ายจากชนบท ไปทำงานในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว ทำให้เศรษฐกิจภายในชนบทซบเซาเป็นอย่างมาก
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้หลาย ๆ หมู่บ้านในญี่ปุ่น ได้เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของตัวเอง
จนเกิดเป็นโครงการที่มีชื่อว่า “One Village One Product” หรือ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP) ขึ้น
ซึ่งโครงการนี้ เป็นโครงการที่ตั้งใจนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มาเพิ่มมูลค่าและพัฒนาให้เป็นธุรกิจ เพื่อนำรายได้มายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
โดยโครงการนี้ ได้เริ่มต้นที่หมู่บ้านโอยามะ จังหวัดโออิตะ เป็นแห่งแรก แล้วค่อย ๆ กระจายไปทั่วญี่ปุ่น
ซึ่งในตอนนี้ OVOP เอง ก็ทำให้สินค้าท้องถิ่นต่าง ๆ ในญี่ปุ่น โด่งดังไปทั่วโลก
ถ้าใครไปเที่ยวญี่ปุ่นตามภูมิภาคต่าง ๆ ก็คงจะรู้จักของอร่อย ๆ จากจังหวัดนั้น ๆ เช่น
-นมที่อร่อยที่สุด ต้องจังหวัดฮอกไกโด
-แอปเปิลที่ดีที่สุด ต้องจังหวัดอาโอโมริ
-เมลอนที่หวานฉ่ำที่สุด ต้องจังหวัดอิบารากิ
ซึ่งต่อมา โครงการ OVOP ก็ได้เป็นโครงการต้นแบบ ที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศได้นำไปปรับใช้เป็นนโยบาย
ในประเทศไทย ก็คือ โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP
นอกจากนี้ ท้องถิ่นแต่ละแห่ง ก็ยังสามารถจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ได้เอง
ซึ่งภาษีที่น่าสนใจของญี่ปุ่น คือภาษี Hometown Tax ที่เพิ่งนำมาใช้เมื่อ 15 ปีก่อน
เป็นระบบภาษีที่ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่า จะมอบเงินให้แก่จังหวัดหรือพื้นที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านเกิด หรือที่อยู่ปัจจุบันของตัวเอง
เพื่อแลกกับของฝาก ที่เป็นสินค้า OVOP หรือบริการต่าง ๆ ที่แต่ละท้องถิ่นนั้นเสนอให้เป็นการตอบแทน
ปัจจุบัน รัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่น ก็มี 2 ระดับด้วยกัน นั่นคือ
1.ระดับจังหวัด (Prefectures) ซึ่งก็จะมีทั้งหมด 47 จังหวัดด้วยกัน รวมเขตการปกครองพิเศษโตเกียวไปด้วย
2.ระดับเทศบาล (Municipalities) ซึ่งก็คือเมืองหรือชุมชน ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเทศบาลก็จะแบ่งเป็น 6 ระดับ ตามขนาดของเมือง นั่นคือ
-เทศบาลมหานคร
เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ที่สุด เป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในญี่ปุ่น
ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองชื่อดังคุ้นหู ที่เรารู้จักกันดี
เช่น เมืองโอซากา เมืองฟูกูโอกะ และเมืองซับโปโระ
ซึ่งเมืองเหล่านี้ต้องมีประชากรมากกว่า 500,000 คนขึ้นไป ปัจจุบันมีเทศบาลระดับนี้กว่า 20 แห่ง
-เทศบาลนครศูนย์กลาง
เป็นเมืองที่มีขนาดรองลงมา ที่มีประชากรมากกว่า 300,000 คน ปัจจุบันมีเทศบาลระดับนี้กว่า 60 แห่ง
-เทศบาลนครพิเศษ
เป็นเมืองขนาดใหญ่ ที่มีประชากรมากกว่า 200,000 คน ปัจจุบันมี 25 แห่ง
-เทศบาลนคร
เป็นเมืองขนาดกลาง ที่มีประชากรมากกว่า 50,000 คน ปัจจุบันมี 792 แห่ง
-และถ้าเมืองไหนที่ยังมีขนาดเล็ก ที่มีประชากรน้อยกว่า 50,000 คน ก็ให้จัดเป็น เทศบาลเมือง และเทศบาลหมู่บ้าน
ถึงตรงนี้ ถ้าย้อนกลับมาดูที่ไทย
ก็ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ ไทยเองก็เริ่มมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเช่นเดียวกัน
โดยเริ่มจากสุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ก็มีมาช้านานแล้ว
แต่การกระจายอำนาจการปกครองไปยัง อบต. หรือเทศบาลต่าง ๆ เพิ่งมี พ.ร.บ. บังคับใช้แบบจริงจัง เมื่อปี 2542 หรือเมื่อ 24 ปีก่อน
โดยให้อำนาจกับพื้นที่อำเภอ หรือตำบลต่าง ๆ ในการจัดทำนโยบายสาธารณะ
และท้องถิ่นนั้น ก็สามารถเลือกตั้งได้
ซึ่งถ้าย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย
ปัจจุบันก็จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 ระดับคล้าย ๆ กับญี่ปุ่นเช่นกัน นั่นคือ
ระดับจังหวัด
มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ดูแลระดับจังหวัด มี 76 แห่ง ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ (ไม่นับรวม กรุงเทพมหานคร ที่เป็นเขตการปกครองพิเศษ)ระดับตำบล
จะแบ่งพื้นที่เขตเมือง ที่เป็นชุมชนใหญ่ เป็นเขตเทศบาล
และพื้นที่ตำบลไหน ที่ยังเป็นหมู่บ้าน หรือพื้นที่ชนบท
ก็จะมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คอยดูแลพื้นที่ตำบลนั้น ๆ
และยังมีองค์กรท้องถิ่น ที่เป็นเขตการปกครองพิเศษอยู่ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
ซึ่งองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้ จะดูแลคนในพื้นที่ในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ด้านการศึกษา ด้านการขนส่ง ด้านสิ่งแวดล้อม
ไปจนถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การสร้างสนามกีฬา และสวนสาธารณะ
โดยท้องถิ่นเหล่านี้ สามารถเรียกเก็บภาษีจากคนในพื้นที่ได้
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ รวมอยู่มากกว่า 7,850 แห่ง
ซึ่งมากกว่าองค์กรท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่นเสียอีก
โดยส่วนใหญ่ยังเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ถึงแม้ว่า ประเทศไทยจะมีองค์กรท้องถิ่นมากมายขนาดนี้ แต่องค์กรท้องถิ่นส่วนใหญ่ ยังคงเป็นองค์กรขนาดเล็ก
ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ให้กับคนในพื้นที่ค่อนข้างน้อย
ซึ่งการบริหาร และการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ
ส่วนใหญ่ก็ยังขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่กำหนดมาจากส่วนกลางอีกที
นั่นหมายความว่า ปัจจุบันใน 1 จังหวัด ก็จะมีผู้บริหาร 2 คน นั่นคือ
ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
อย่างไรก็ตาม จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา
จะเห็นได้ว่า หลาย ๆ พรรคก็เริ่มมีนโยบายสนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมากขึ้น
ซึ่งถ้าสามารถทำได้ ก็จะนำไปสู่การปกครองในรูปแบบใหม่ นั่นคือ
จะได้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นคนพื้นที่จริง ๆ มาเป็นผู้บริหารแค่คนเดียว เหมือนกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
แต่แม้ว่าการกระจายอำนาจ สู่ท้องถิ่นต่าง ๆ จะเป็นเรื่องที่ดี
เพราะผู้บริหารท้องถิ่น ที่มาจากบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งก็น่าจะเข้าใจความต้องการ และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
สามารถใช้นโยบายพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจ และธุรกิจภายในท้องถิ่นได้อย่างตรงจุด
แต่ท้องถิ่น จำเป็นต้องมีองค์กรคอยตรวจสอบ เพื่อถ่วงดุลอำนาจ และตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด
และประชาชน จะได้รับประโยชน์จากนโยบายต่าง ๆ ที่ผู้บริหารท้องถิ่นได้วางไว้มากที่สุด เช่นเดียวกัน..
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.