ใช้จ่ายก่อนออม VS ออมก่อนใช้จ่าย แบบไหนดีกว่ากัน ?

ใช้จ่ายก่อนออม VS ออมก่อนใช้จ่าย แบบไหนดีกว่ากัน ?

9 ม.ค. 2022
ใช้จ่ายก่อนออม VS ออมก่อนใช้จ่าย แบบไหนดีกว่ากัน ? | THE BRIEFCASE
หนึ่งเป้าหมายทางการเงินที่หลายคนมักตั้งเป้าหมายในช่วงต้นปี
คือการมีเงินออม ตามวัตถุประสงค์ของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นเงินออมฉุกเฉิน, เงินออมเพื่อการลงทุน, เงินออมเพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนจะตั้งเป้าหมายการออมมาเป็นอย่างดี
แต่พอเอาเข้าจริง.. กลับไม่สามารถออมเงินได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
หนึ่งสาเหตุคงเป็นเพราะหลายคนเลือกออมเงินหลังใช้จ่ายไปแล้ว
อธิบายง่าย ๆ เมื่อได้รับเงินเดือนมา ก็มักจะนำไปใช้จ่ายก่อน แล้วค่อยนำเงินส่วนที่เหลือมาเป็นเงินออม
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลังจากการทำงานหนักมาตลอดทั้งเดือน
หลายคนต้องการผ่อนคลายตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การทานอาหารอร่อย, การซื้อของถูกใจ หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ล้วนต้องใช้จ่ายด้วยเงิน
ผลที่ตามมาก็คือ การใช้จ่ายเงินแบบไม่รู้ตัว จนเกิดปัญหาไม่สามารถเก็บออมเงินได้ตามที่ตั้งใจ หรืออาจไม่มีเงินออมเลยในบางเดือน
ทีนี้ ก็น่าจะเห็นภาพแล้วว่า “ใช้จ่ายก่อนออม” คงไม่ใช่วิธีที่ดีสำหรับการออมเงินอย่างแน่นอน
คำถามก็คือ แล้ววิธีไหนจะช่วยให้เราออมเงินตามเป้าหมายได้บ้าง ?
เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการเงินด้วยวิธี “ออมก่อนใช้จ่าย”
พูดง่าย ๆ ก็คือเมื่อได้รับเงินเดือนมา ลองหักเงินออมก่อนทันที จากนั้นค่อยนำเงินส่วนที่เหลือมาใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
โดยเราสามารถกำหนดสัดส่วนเงินออมตามที่ต้องการ
เช่น 10-20% ของเงินเดือน โดยสะสมเป็นประจำไปเรื่อย ๆ ในทุกเดือน
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการออมเงิน
จึงไม่ใช่แค่การคำนึงสัดส่วนเงินออมที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายของตนเอง
แต่ยังต้องมีความสม่ำเสมอที่เรียกว่า วินัยทางการเงิน อีกด้วย
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการออมก็คือ การแยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีใช้จ่าย
หลายคนจึงเลือกใช้วิธีหักเงินออมอัตโนมัติออกจากบัญชีเงินเดือน นั่นเอง
นอกจากนี้ เรายังควรแยกบัญชีเงินออมตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ
- บัญชีเงินออมฉุกเฉิน ควรมีเงินออมจำนวน 6-12 เท่าของการใช้จ่ายรายเดือน
- บัญชีเงินออมระยะกลาง เช่น การออมเงินเพื่อดาวน์บ้าน, ดาวน์รถยนต์
- บัญชีเงินออมเพื่อการลงทุน เช่น การลงทุนกองทุนรวมแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Average (DCA)
เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยให้เราสามารถออมเงินตามเป้าหมายได้ไม่ยาก และยังง่ายต่อการบริหารจัดสรรเงินออมที่เราสะสมไว้ อีกด้วย
มาถึงตรงนี้ สำหรับใครที่ยังมีปัญหาเรื่องของการออมเงิน..
ลองกลับมาสังเกตตนเองดูสิว่า เงินออมของเราเกิดขึ้นแบบ “ใช้จ่ายก่อนออม” หรือ “ออมก่อนใช้จ่าย”
พร้อมทั้งสำรวจวินัยการออมเงินของตนเอง และแยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีเงินเดือน นั่นเอง..
Reference
-https://www.set.or.th/set/financialplanning/lifeevent.do?innerMenuId=1&name=wealth_saving
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.