สรุปเคล็ดไม่ลับ ฉบับคุณอูน Diamond Grains สำหรับคนอยากทำแบรนด์ แต่ไม่มีไอเดีย

สรุปเคล็ดไม่ลับ ฉบับคุณอูน Diamond Grains สำหรับคนอยากทำแบรนด์ แต่ไม่มีไอเดีย

29 ธ.ค. 2021
สรุปเคล็ดไม่ลับ ฉบับคุณอูน Diamond Grains สำหรับคนอยากทำแบรนด์ แต่ไม่มีไอเดีย | THE BRIEFCASE
ใครที่กำลังประสบปัญหาอยากทำธุรกิจ แต่รู้สึกไม่พร้อม ลองอ่านบทความนี้กันดู..
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมคนทำแบรนด์บางคน ถึงคิดสินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา แถมยังขายดิบขายดี ในขณะที่ตัวเราเอง ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร หรือบางทีก็มีไอเดียแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกไม่พร้อมอยู่ดี
THE BRIEFCASE ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ซีอีโอหญิง ที่ปัจจุบันเธอกำลังปั้นแบรนด์กว่า 6 แบรนด์ และส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์ยอดนิยมอีกด้วย
ซีอีโอหญิงคนนั้นก็คือ คุณชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ หรือคุณอูน เจ้าของอาณาจักรแบรนด์กราโนลาคลีน เจ้าแรกในไทยที่ชื่อว่า “Diamond Grains”
ซึ่งปัจจุบันมีรายได้ในบริษัท บรันช์ไทม์ จำกัด ผู้ผลิต Diamond Grains เฉลี่ย 200 กว่าล้านบาทต่อปี
และนี่คือเหล่าแบรนด์ที่คุณอูนกำลังปลุกปั้น ให้เป็นแบรนด์น้อง ๆ ของอาณาจักร Diamond Grains
- Moleculogy ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งตัวช่วยบำรุงผิวสวยใส และบำรุงระบบประสาทและสมอง
- Puckchumm อาหารมังสวิรัติ เซตดีท็อกซ์ โบลขนมหวาน
- Aurora's Potion ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสมุนไพร ที่ปราศจากสารเคมี เพื่อแก้ไขระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย
- Home to My Heart เสื้อยืด Oversize และมีสกรีนเสื้อที่อำพรางรูปร่างด้านใน เหมาะสำหรับคนที่ไม่สะดวกใส่บรา
- Serious Snack ขนมที่ทานแล้วไม่อ้วน และเหมาะกับสายสุขภาพ
ทำไมภายในเวลา 10 ปี เธอถึงปล่อยแบรนด์ออกมาได้มากขนาดนี้ เธอมีวิธีคิดอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง..
1. Pain Point ของตัวเราเอง อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่
ตัวคุณอูนเองเริ่มธุรกิจมาจาก Pain Point ของตัวเอง
เช่น คุณอูนใช้ยาสระผมหรือครีมนวดแล้วแพ้ ก็ลองศึกษาหาข้อมูลและตามหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเอง
ซึ่งคุณอูนก็พบว่า ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนแพ้ง่ายอย่างคุณอูน มักจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง
ทำให้คุณอูนคิดว่า ในเมื่อเรามีความรู้ เรียนเรื่องส่วนผสมหรืออาหารเสริมมาก่อน ก็น่าจะต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่ากับราคาได้
หรือการเปิดตัวแบรนด์ Home to My Heart ก็เกิดจากที่ตัวคุณอูนเอง มีปัญหากับการใส่บราบ่อย ๆ เนื่องจากปัญหาสุขภาพคือ ปอดไม่แข็งแรง ดังนั้นการใส่เสื้อรัด ๆ จะทำให้หายใจไม่สะดวก
คุณอูนจึงมองว่า ในเมื่อเราเจอปัญหานี้ ก็มีโอกาสที่คนอื่น ๆ จะประสบปัญหาเช่นเดียวกันกับตัวเอง
ดังนั้นเมื่อเราเจอปัญหา คุณอูนมองว่าถ้ามัวแต่รอให้คนอื่นมาแก้ แล้วเมื่อไรปัญหามันจะถูกแก้เสียที
ปกติแล้วหลายคนเจอปัญหาอยู่รอบตัวแทบทุกวัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่อยากจะแก้มัน
ดังนั้นไอเดียในการทำธุรกิจของคุณอูน ไม่ใช่มาจากความครีเอทีฟ หรือมีหลักการอะไรที่ยิ่งใหญ่
แต่เพราะสังเกตเห็นปัญหา แล้วอยากจะแก้มันเท่านั้นเอง..
2. ถามตัวเองว่า อุปสรรคในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจมีอะไรบ้าง และเราสามารถเดาตลาดได้หรือไม่ว่าอะไรจะเวิร์ก
คุณอูนกล่าวว่า คุณอูนใช้เวลาเดาตลาดตอนทำ Diamond Grains อยู่ 3 ปี
โดยลงมืออบขนมเอง ลองไปขาย ขับรถไปเสนอสินค้าด้วยตัวเอง ตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่
ซึ่งในช่วงนั้นก็ยังขายไม่ออกเลยสักบาท อีกทั้งยังคอยปรับสูตรตามคอมเมนต์ลูกค้า ซึ่งก็ต้องแก้ไปแก้มา
แน่นอนว่าในช่วงที่เจอปัญหาหนัก ๆ คนทำธุรกิจจะต้องเจอกับทางแยกว่า จะลุยต่อหรือหาทางใหม่
แต่คุณอูนก็ลองเลือกทางที่จะลุยต่อ โดยลองกลับมาประเมินตัวเองดูว่า ถ้านับต่อจากนี้ 1 ปี ต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวัน จะไหวหรือไม่ ถ้าหากว่าเราไหวก็ต้องลองลุ้นดูอีกสักตั้ง
ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าใน 1 ปีหลังจากวันนั้น ธุรกิจ Diamond Grains ก็ยังไม่เวิร์ก
ทำให้คุณอูนก็พบเจอกับการไขว้เขวลังเลใจ ว่าจะปรับธุรกิจไปทำอย่างอื่นดีหรือไม่
แต่ในระหว่างที่กำลังตัดสินใจอยู่นั้น คุณอูนก็ได้เจอกับปัญหาที่ตอกหน้ามาเรื่อย ๆ
จนในที่สุดก็ตกตะกอน และได้รู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่คนไม่ต้องการ และอะไรคือสิ่งที่พวกเขากำลังต้องการอยู่
ทำให้คุณอูนเริ่มเดาใจกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เพราะสามารถละทิ้งความเป็นตัวเองออกไปจนหมด และเอาใจไปอยู่ที่ตลาดแทน
แต่อย่างไรก็ตาม คุณอูนก็ได้แชร์ว่าในความเป็นจริง เราก็ไม่ได้เดาตลาดเป๊ะไปเสียทุกข้อ เดาผิดก็มี
แต่สิ่งที่จะช่วยให้เราคาดการณ์ตลาดได้อย่างแม่นยำคือ “การลงมือทำเอง เพื่อเผชิญหน้ากับทุกอย่าง”
ซึ่งคุณอูนได้อยู่ในทุกกระบวนการของแบรนด์ ตั้งแต่ผลิต ไปขายเอง โดนลูกค้าปฏิเสธด้วยตัวเอง ได้เห็นแววตาสีหน้าของลูกค้าที่ทั้งพึงพอใจและไม่พอใจ จนทำให้วันนี้คุณอูนได้เข้าใจเลเวลความชอบและไม่ชอบของแต่ละคนได้มากขึ้น
3. “เข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง” คือสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการทุกคนรอด
วันนี้การแข่งขันค่อนข้างสูง โลกออนไลน์เปลี่ยนไปไม่เหมือนก่อน ทุกคนสามารถสร้างตัวตนได้ง่าย
ทุกคนมีพื้นที่ยืนในตลาดได้ ดังนั้นการพยายามเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง คือเรื่องสำคัญ
พอเราเข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ว่าเราจะทำใจได้เวลาที่ผิดหวัง
แต่เราจะคาดเดาได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น มันจะไปต่ออย่างไร แล้วจากนั้นเราก็จะเริ่มหาวิธีแก้ปัญหาและรับมือได้
คุณอูนแนะนำผู้ประกอบการมือใหม่ว่า เราควรมองทุกอย่างเป็นปัญหาที่เราสามารถแก้ไขมันได้ อย่ามองทุกอย่างเป็นภาระที่เราต้องไปเหนื่อยกับมัน
เพราะถ้ามันเป็นปัญหาที่เราอยากจะแก้ แล้วเราแก้ไหว เราก็จะสามารถแก้ไปเรื่อย ๆ
แต่ถ้าวันใดวันหนึ่ง เรารู้สึกว่าปัญหามันมากไป เหมือนใจเราไม่อยากจะทำมันแล้ว เราก็ไม่ต้องกดดันตัวเอง ให้ตระหนักว่าบางอย่างมันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
และบางคนอาจจะมองว่า ทำธุรกิจแล้วห้ามล้มห้ามเลิกเลย ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่
ดังนั้นเราต้องใจเย็นกับตัวเราเอง เพราะถึงมันจะเป็นเรื่องธุรกิจ แต่มันก็ทำด้วยใจและร่างกายของเรา เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา
ถ้าเรามองธุรกิจด้วยข้อเท็จจริง แล้วรู้ว่ามันไปต่อไม่ได้จริง ๆ ก็ให้ลองเปลี่ยนทางดู ไม่ต้องไปฝืน เพราะธรรมชาติมันมีการเปลี่ยนแปลง และนั่นก็แปลว่ามันยังมีโอกาสอยู่เสมอ
4. เมื่อไรที่เรารู้สึกว่า เราควรเริ่มลงมือทำธุรกิจได้แล้ว ?
คุณอูนมองว่า หากเราอยากก้าวเข้ามาทำธุรกิจเอง สิ่งที่เราต้องคิดก็คือ “ความเสี่ยง”
เราต้องเริ่มถามตัวเองว่า เราพร้อมที่จะเสียไหม ?
เพราะบางคนมี Mindset ว่า ธุรกิจคือการที่เราพร้อมที่จะได้ทั้งหมด แต่ไม่พร้อมที่จะเสียอะไรเลย
ถ้าเราพร้อมที่จะเสียทั้งหมด กล้าเสี่ยงเสียเงินก้อนแรก ให้เริ่มเลย ไม่ต้องรอให้คนมาเห็นด้วยกับเรา เพราะไม่มีใครสามารถมาให้คำตอบเราได้ทันทีว่าสิ่งที่เราทำมันจะเวิร์กหรือไม่
ซึ่งตัวคุณอูนเองก็ไม่ได้ทำรีเซิร์ชเลย แต่มันต้องอาศัยการลงมือทำจริงไปเรื่อย ๆ และเก็บฟีดแบ็กจากลูกค้า
เราควรมองว่าธุรกิจไม่ใช่ความสำเร็จ ธุรกิจเป็นอาชีพ ธุรกิจเป็นงาน เพราะฉะนั้นถ้าเราพร้อมทำงาน
ต้องคิดไว้เลยว่ามันต้องมีปัญหา มันต้องยุ่ง มันต้องเหนื่อย ถ้าเราพร้อมที่จะเผชิญสิ่งนั้น คุณอูนเชียร์ให้ทุกคนเริ่มเลย
สุดท้ายนี้คุณอูนมองว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะทำธุรกิจกันได้ทั้งหมด
ส่วนโอกาสเติบโตก็ยังมีอยู่ และไม่ใช่แค่มีโอกาสเติบโตเฉพาะในไทย
แต่เราสามารถเติบโตในตลาดระดับโลกได้ เพียงแค่ทุกคนมองว่าตลาดคือตลาด คือกลุ่มเป้าหมาย
เมื่อไรก็ตามที่เราทำสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดได้ เรามีโอกาสเติบโตอย่างแน่นอน
และถึงแม้ว่าเราจะทำสินค้าที่มีอยู่แล้วในตลาด แต่ถ้าเราทำดีกว่าเขา เราก็มีโอกาสเติบโตได้
ดังนั้นให้เราทุกคนคิดว่า ธรรมชาติของตลาดจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น และมีสิ่งเก่าที่ตายไปเสมอ
เราก็แค่มองหาให้เจอว่าตลาดยังขาดอะไรอยู่ แล้วเราก็เติมเต็มมันเท่านั้นเอง..
Reference
-สัมภาษณ์พิเศษ คุณชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง Diamond Grains
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.