กีฬา สอนให้รับมือกับ ความกดดัน ได้อย่างไร ?

กีฬา สอนให้รับมือกับ ความกดดัน ได้อย่างไร ?

7 ส.ค. 2021
กีฬา สอนให้รับมือกับ ความกดดัน ได้อย่างไร ? | THE BRIEFCASE
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนประจำปี 2020 ที่จัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมและนักกีฬาที่น่าทึ่งมากมาย
นอกจากการแข่งขันกีฬาจะให้ความเพลิดเพลินกับเราแล้ว ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่กีฬาได้สอนเราไปในตัว
นั่นก็คือ “การทำงานภายใต้ความกดดัน”
เพราะการแข่งขันกีฬา เป้าหมายสูงสุดของนักกีฬาทุกคน
คือทำผลงานให้ดีที่สุด และคว้าชัยชนะเป็นที่ 1 ให้ได้
อย่างไรก็ตามการที่จะได้รับชัยชนะ นอกจากเราจะต้องมีการฝึกฝนและมีทักษะด้านกีฬาที่ดีแล้ว เรายังต้องมีความสามารถในการสงบสติอารมณ์ และการทำงานภายใต้ความกดดันอีกด้วย
ดังนั้น ยิ่งเรามีสติและไม่หวั่นไหวภายใต้แรงกดดันมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เรายังสามารถตัดสินใจได้ดีมากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้น คุณเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโด จากที่สามารถรวบรวมสติ เอาชนะความกดดัน และฮึดสู้จนสามารถเบียดเอาชนะคู่แข่งใน 7 วินาทีสุดท้ายไปได้
หากเรามามองในฝั่งของการทำงานในชีวิตประจำวันของเรา ความกดดันที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน อาจทำให้การคิดเป็นระบบ หรือการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนเป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก จนอาจส่งผลต่อปัญหาในเรื่องการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
การรวบรวมและคุมสติให้อยู่ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ต่อการรับมือกับความกดดันที่เกิดขึ้น
อีกสิ่งที่จะช่วยให้เรารับมือกับสภาวะกดดันได้ดีก็คือ การปล่อยวาง และพร้อมที่จะยอมรับความพ่ายแพ้
ในด้านจิตวิทยาการกีฬา ได้มีการฝึกฝนให้นักกีฬายอมรับความพ่ายแพ้และปล่อยวาง โดยให้คิดเสมอว่าเราได้ฝึกอย่างหนักและพยายามเต็มที่ที่สุดแล้ว เพื่อไม่ให้นักกีฬาเครียดและรู้สึกกดดันมากเกินไป
ซึ่งทักษะนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้เช่นกัน
เพราะเมื่อเวลาเรากดดันหรือกังวลเกี่ยวกับงานที่ต้องรับผิดชอบ หรือกังวลต่อการพูดพรีเซนต์งาน
ก็ให้เรียนรู้ที่จะละทิ้งแรงกดดันเหล่านั้น ด้วยการบอกกับตัวเองว่า เราได้ทำงานหนักหรือเตรียมตัวมาหนักที่สุดเท่าที่จะทำได้และพยายามอย่างเต็มที่แล้ว
ถึงแม้สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราตั้งใจไว้ก็ไม่เป็นไร แต่ให้เรียนรู้ข้อผิดพลาดเหล่านั้นและทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
นอกจากนี้การผิดพลาดหรือแพ้บ้างในบางครั้งก็เป็นผลดีเช่นเดียวกัน เพราะการยอมรับว่าเราได้ทำผิดพลาดเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่งในการขจัดแรงกดดันจากตัวเราเอง
หากเรากังวลว่า เราต้องสมบูรณ์แบบเสมอ และไม่เคยทำผิดพลาดต่อหน้าคนอื่น เราก็จะยิ่งกดดันตัวเองมากเกินไป จนบางครั้งอาจไม่กล้าลองเสี่ยงทำอะไรใหม่ ๆ เลย
การที่เราไม่กล้าเสี่ยงนี่เอง อาจจะทำให้เราไม่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งก็ได้
ซึ่งเรื่องนี้เองก็สะท้อนตรงกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับโลกหลาย ๆ คน ที่กล้าที่จะปล่อยให้เกิดความล้มเหลวได้
เช่น เจฟฟ์ เบโซส ที่มองว่า ความล้มเหลว คือ สัญลักษณ์ของการทดลองอะไรใหม่ ๆ หรือ ทิม คุก ที่มองว่าความล้มเหลว คือ การที่เราพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่ต่างออกไปจากเดิม
อีกเทคนิคที่น่าสนใจก็คือ การพูดสิ่งดี ๆ กับตัวเองเพื่อเสริมความมั่นใจ
สิ่งหนึ่งที่มีการใช้ในจิตวิทยาการกีฬาก็คือ การพูดกับตัวเองในเชิงบวก และปิดกั้นความคิดเชิงลบที่มาพร้อมกับความวิตกกังวล
เช่น พูดกับตัวเองว่าเราทำได้ เราฝึกมาอย่างเต็มที่แล้ว เราสามารถเอาชนะคู่แข่งได้
คำพูดเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจของเรา คอยเตือนเราอยู่เสมอว่าเรามีความสามารถ สร้างพลังให้เราได้มากขึ้น และลดความกดดันของเราลงได้
อย่างไรก็ตาม ความกดดันก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป
เพราะอีกด้านหนึ่ง ความกดดันก็ทำให้เราฮึดสู้
เพื่อให้ได้ ให้สำเร็จ ในสิ่งที่เราต้องการ...
References:
-https://www.inc.com/jessica-stillman/tokyo-olympics-athletes-performance-pressure.html?cid=sf01001
-https://www.entrepreneur.com/article/235847
-https://medium.com/@thesimonboulter/performing-under-pressure-9-ways-great-athletes-make-it-count-when-it-counts-most-b271619f17e3
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.