ทำไมบางบริษัท ขาดทุนติดต่อกันหลายปี แต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้

ทำไมบางบริษัท ขาดทุนติดต่อกันหลายปี แต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้

5 ส.ค. 2021
ทำไมบางบริษัท ขาดทุนติดต่อกันหลายปี แต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้ | THE BRIEFCASE
เราคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า บริษัทที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจในปีแรก ๆ ถ้าอยากเติบโตเร็ว ก็ต้องแลกกับการไม่มีกำไร
ตัวอย่างบริษัทใกล้ตัวเรา ก็อย่างเช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada, Shopee หรือบริษัทที่ให้บริการฟูดดิลิเวอรี อย่าง Grab, Foodpanda
บริษัทที่ว่ามาเหล่านี้ขาดทุนติดต่อกันมาแล้วหลายปี แต่จำนวนผู้ใช้งานและรายได้ ก็กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน
หรือหากเราลองดูจากบริษัทชื่อดังระดับโลกหลายบริษัท ก็จะพบว่า หลายบริษัทต้องใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียวกว่าจะมีกำไร เช่น
- Facebook ใช้เวลา 5 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจึงจะสามารถทำกำไรได้
- Amazon.com ใช้เวลา 7 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจึงจะสามารถทำกำไรได้
คำถามต่อมาคือ บริษัทที่ยังไม่มีกำไร ทำธุรกิจต่อไปได้อย่างไร ?
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กำไรหรือขาดทุน ที่เราเห็นในงบการเงินนั้นคืออะไร
กำไร หรือ กำไรทางบัญชี คือ ยอดขาย หักลบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น เราทำการเปิดร้านขายเสื้อผ้า
โดยทั้งปีมียอดขายอยู่ที่ 10 ล้านบาท
มีต้นทุนในการผลิตเสื้อผ้า 5 ล้านบาท
ค่าจ้างพนักงานและค่าโฆษณาร้านเรา รวมกันปีละ 2 ล้านบาท
ดังนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่ากับ 7 ล้านบาท
เหลือเป็นกำไร 3 ล้านบาท
แต่สำหรับบริษัทที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น มักจะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่ายอดขายที่ทำได้ ซึ่งเมื่อหักลบกันแล้ว บริษัทก็จะขาดทุนนั่นเอง
ซึ่งถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้บริษัทอยู่รอดได้ในทุก ๆ ปี คำตอบคือ “เงินสด”
หากบริษัทยังมีเงินสดเพียงพอที่จะสามารถจ่าย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ทันเวลา หรือมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ บริษัทก็จะยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ถึงแม้ว่าจะขาดทุนก็ตาม
คำถามคือ แล้วบริษัทจะไปหาเงินสดมาใช้จ่าย ได้จากที่ไหน ?
1. เงินกู้
วิธีที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้วคือการ “กู้เงิน” หรือพูดง่าย ๆ คือการยืมเงินนั่นเอง
ซึ่งช่องทางหลักคือ การกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งวิธีนี้ก็ต้องแลกด้วยการจ่าย “ดอกเบี้ย” ให้กับผู้ที่ให้เรากู้ยืม
อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ ธุรกิจที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็อาจเจอปัญหา ขอกู้เงินจากธนาคารได้ยากในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในช่วงแรกอาจมีความไม่แน่นอนหลายอย่าง ทำให้ธนาคารเองก็ไม่กล้าที่จะให้ยืมเงินมากนัก
2. เงินที่ได้จากการระดมทุน
คือ การได้รับเงินทุนจากคนที่สนใจในบริษัท โดยพวกเขาจะได้รับสิ่งตอบแทนคือหุ้นของบริษัท
โดยส่วนมากจะเป็นนักลงทุนที่สนใจใน การดำเนินธุรกิจของบริษัท
หรือโครงการใหม่ ๆ ที่คาดว่าจะทำให้บริษัทเติบโตได้ในอนาคต
ซึ่งวิธีในการระดมทุนนั้นก็มีหลากหลาย เช่น
Venture Capital
โดยส่วนมากหากเป็นในช่วงระยะเริ่มต้นของธุรกิจ
มักจะได้รับเงินทุนจาก Venture Capital หรือ VC ที่รวบรวมเงินที่ได้จากนักลงทุน แล้วนำเงินไปเป็นเงินทุนให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ VC สนใจ
Corporate Venture Capital หรือ CVC ที่มีแนวทางเหมือนกับกอง VC ทั่วไป เพียงแต่จะเป็นเงินจากการรวบรวมจากบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีเงินสดในมือเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างของ CVC ในไทย เช่น Beacon Venture Capital ของธนาคารกสิกรไทย, InVent ของ Intouch Holdings
นอกจากนี้ยังมีการระดมทุนวิธีอื่นอีก เช่น
- IPO หรือการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก ซึ่งเป็นการนำหุ้นจำนวนหนึ่งของบริษัทมาขายให้กับสาธารณะหรือนักลงทุนทั่วไปที่สนใจ
- Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนในยุคอินเทอร์เน็ต โดยส่วนมากจะทำผ่านแพลตฟอร์ม
ตัวอย่างเช่น Kickstarter ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับให้คน 2 ฝั่งได้มาเจอกัน
ฝั่งหนึ่งมีไอเดีย อีกฝั่งมีเงินทุนมาสนับสนุนโครงการ หรือไอเดียที่ตัวเองสนใจ
ซึ่งวิธีหาเงินทุนแบบนี้ ต้องแลกกับ การยอมเสียสัดส่วนความเป็นเจ้าของของกิจการ
3. กระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินธุรกิจ
คือ เงินที่ได้มาจากการทำธุรกิจของเรา โดยจะนับเฉพาะเงินสดที่บริษัทได้รับและจ่ายออกไปจริง ๆ
ซึ่งจะต่างจากกำไรทางบัญชี ที่มีบางรายการที่รอรับรู้รายการในอนาคต เช่น รายได้รับล่วงหน้าที่เราได้เงินสดมาแล้ว แต่ยังไม่รับรู้รายได้ทางบัญชี
ตัวอย่างการนับว่าอะไรเป็นเงินสด ก็เช่น
- เราขายเสื้อให้นาย A นาย A จ่ายเงินสดทันที แบบนี้เรานับเป็นทั้งยอดขาย และเงินสด
- เราขายเสื้อให้นาย B แต่นาย B จ่ายเงินล่วงหน้าก่อนส่งมอบสินค้าจริง แบบนี้เราได้รับเงินสดล่วงหน้ามาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรู้รายได้ทางบัญชี
ตัวอย่างรายการรับเงินสดล่วงหน้าของธุรกิจต่าง ๆ ก็จะเป็น การขายบัตรเติมเงินล่วงหน้า, การขายตั๋วล่วงหน้า, การขาย Subscription แบบจ่ายเงินล่วงหน้า
โดยหากบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาเรื่อย ๆ และเพียงพอใช้หมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ธุรกิจของบริษัทก็จะยังคงดำเนินต่อไปได้
อ่านมาถึงจุดนี้คงพอเข้าใจแล้วว่าทำไมบริษัท
จึงยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แม้จะมีการขาดทุนทางบัญชี
เราลองมาดูตัวอย่างกันบ้าง
อย่างเช่น Spotify แพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงและพอดแคสต์ที่เรารู้จักกันดี
หากเราลองมาดูผลประกอบการของ Spotify
ปี 2019 รายได้ 222,467 ล้านบาท ขาดทุน 6,117 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 259,173 ล้านบาท ขาดทุน 19,109 ล้านบาท
แม้ Spotify จะมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน แต่หากเราไปดูที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท
ปี 2019 มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 18,845 ล้านบาท
ปี 2020 มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 8,518 ล้านบาท
กระแสเงินสดยังคงเป็นบวก และบริษัทยังมีเงินสดเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของบริษัท
สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ Spotify มีโมเดลธุรกิจเป็นแบบ Subscription ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่องทุก ๆ เดือน ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นของ Subscription Model เลยก็ว่าได้
คำถามต่อไปก็คือ
ถ้าบริษัทมีกระแสเงินสดติดลบ บริษัทนั้นจะหาเงินสดจากการกู้ หรือการระดมทุนไปเรื่อย ๆ ได้หรือไม่
คำตอบก็คือ บริษัทจะกู้เงิน หรือระดมทุนได้มากถึงจุดหนึ่งเท่านั้น
เพราะเมื่อผู้ให้กู้ หรือผู้ให้เงินทุน หมดความหวังในอนาคตของบริษัท ก็อาจหยุดให้เงินเพื่อสนับสนุนต่อ
และเมื่อเงินหมด แต่บริษัทยังมีกระแสเงินสดที่ติดลบ นั่นอาจหมายถึงจุดจบของบริษัท
ซึ่งจากสถิติพบว่า สตาร์ตอัปที่ไม่ประสบความสำเร็จ และล้มหายตายจากไปมีสัดส่วนสูงถึง 90%
แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ชัยชนะของการประสบความสำเร็จอาจดูหอมหวาน แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสามารถอยู่รอดได้ในเกมนี้
และสุดท้าย ก็คงไม่มีนักลงทุนคนไหน
ที่จะอยากลงทุนหรือให้เงินสนับสนุนกับธุรกิจ ที่ไม่ว่าอีกกี่ปี ก็ไม่มีวันทำกำไรได้เลย..
References:
-https://www.longtunman.com/30528
-https://www.investopedia.com/ask/answers/042115/what-difference-between-net-income-and-cash-flow-operating-activities.asp
-https://www.investopedia.com/ask/answers/012915/what-difference-between-operating-cash-flow-and-net-income.asp
-https://www.longtunman.com/6931
-https://www.efinancethai.com/MoneyStrategist/MoneyStrategistMain.aspx?id=WkgvZUhlZ0VKbEU9
-https://www.moonclerk.com/subscription-business-model-pros-vs-cons
-https://www.jumpstartmag.com/how-long-before-a-startup-becomes-profitable/
-https://www.crunchbase.com/organization/spotify/company_financials
-Spotify Annual Report 2020
-Spotify Quarterly Report Q2
-https://www.smethailandclub.com/startups-3675-id.html
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.