"Brownout" ภาวะหมดใจในการทำงาน ที่รุนแรงกว่า Burnout

"Brownout" ภาวะหมดใจในการทำงาน ที่รุนแรงกว่า Burnout

2 มิ.ย. 2021
"Brownout" ภาวะหมดใจในการทำงาน ที่รุนแรงกว่า Burnout | THE BRIEFCASE
หลาย ๆ ครั้งที่เรารู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำงาน
แต่เคยถามตัวเองไหมว่า แท้จริงแล้วอะไรคือสาเหตุ ที่ทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่ายและไม่มีความสุข ?
หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นอาการ Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟ ที่เกิดจากการทำงานหนักมากเกินไป
แต่ความจริงแล้วอาจไม่ใช่แบบนั้น
เพราะนี่อาจเป็นอาการของ “คนหมดใจ” ต่อการทำงานให้กับองค์กร หรือที่เรียกว่าภาวะ “Brownout Syndrome”
ซึ่งหากบริษัทปล่อยให้พนักงานอยู่ในสภาวะ “Brownout” ต่อไปนาน ๆ
ก็อาจไม่ต่างอะไรกับคนเป็นโรคมะเร็ง ที่ไม่แสดงอาการ จนสุดท้ายก็ไม่สามารถทำการรักษาได้ทันเวลา
ผลเสียในระยะยาว ที่ชัดเจนที่สุดจากอาการ Brownout
ก็อาจจะลงเอยด้วยการที่องค์กร อาจต้องสูญเสียทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดในบริษัทอย่าง “พนักงาน” ไป
หากอ้างอิงจาก ผลการสำรวจของ Harvard Business Review พบว่าอัตราส่วนที่มีผลต่อการลาออกของพนักงานชาวอเมริกัน ถึง 40% มาจากภาวะ “Brownout”
ซึ่งหากเทียบสภาวะ “Burnout” ที่เป็นอาการหมดไฟชั่วคราวนั้น มีเพียง 5% เท่านั้น..
อาการ “Brownout Syndrome” ที่ว่านี้ มีสาเหตุเกิดมาจากอะไร ?
แล้วอาการนี้ พอมีแนวทางที่จะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ?
วันนี้ THE BRIEFCASE จะมาสรุปให้ฟัง
มาดูกันที่ส่วนของสาเหตุที่ทำให้เราเกิดอาการ Brownout กันก่อน
- สาเหตุแรก คือ เจ้านายหรือหัวหน้า ตั้งความคาดหวังสูง และเอาแต่ใจตัวเองมากเกินไป
การที่หัวหน้ามีบทบาทในการกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง สั่งงานใหม่เพิ่ม แต่ไม่ช่วยจัดการงานเก่า
หรือว่าง่าย ๆ คือ การที่ทีมงานถูกบริหารด้วยอำนาจที่กระจุกอยู่ที่ศูนย์กลางหรือเจ้านาย
และเมื่อเจ้านายมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารภายในองค์กร แต่เพียงผู้เดียวแล้ว
แน่นอนว่า ความคาดหวังต่อผลงานของลูกน้องในทีม ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวไปกว่าความคาดหวังที่เป็นระบบมาตรฐานเดียว ก็คือ มาตรฐานเฉพาะตัวของเจ้านายเอง
ซึ่งจุดนี้ก็เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พนักงานกดดันจนเกิดอาการ Brownout
- สาเหตุที่ 2 คือ เกิดการเปรียบเทียบในเรื่องสถานะของพนักงาน ที่ไม่เป็นธรรมในองค์กร
ต่อเนื่องมาจากสาเหตุแรก เมื่ออำนาจตกอยู่ในมือของเจ้านายมากจนเกินไป
ก็จะทำให้เกิด วัฒนธรรมการมีเส้นสาย หรือการเป็นที่รักมักที่ชัง ของพนักงานบางคนในองค์กร
ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า พนักงานที่ได้รับรางวัลดาวเด่นประจำเดือนนี้
อาจไม่ใช่พนักงานดีเด่นที่มาจากผลงานตัวจริง แต่กลายเป็นพนักงานที่เจ้านายชื่นชอบแทน
ส่วนตัวพนักงานดีเด่นตัวจริง ที่กลับไม่ได้แม้แต่การชื่นชมใด ๆ เลย
ก็จะเกิดอาการท้อแท้และน้อยใจได้
- สาเหตุที่ 3 คือ การที่องค์กรไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน และยังกำหนดเงื่อนไขในการทำงานที่เยอะจนเกินไป
เงื่อนไขที่ว่านี้ อาจเป็นการที่บริษัทกำหนดขอบเขตเนื้อหาของงานที่ทำมากเกินไป
จนทำให้พนักงานขาดอิสระทางความคิด
เมื่อพนักงานไม่มีอิสระทางความคิด พวกเขาก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย
และรู้สึกว่า พวกเขาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใด ๆ รวมไปถึงการพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นด้วย
ทำได้เพียงแค่ ทำงานเป็นหุ่นยนต์ให้ผ่านไปวัน ๆ
- สาเหตุที่ 4 คือ ตัวพนักงานเกิดความเหนื่อยล้าสะสม
ซึ่งอาจเป็นการเหนื่อยล้าทางกายจากการทำงานหนัก รวมไปถึงการเหนื่อยล้าทางจิตใจ เมื่อทำงานไปแล้วไม่มีความสุข ไม่รู้สึกว่าจะเติบโตได้อย่างไร หรือทำไปเพื่ออะไร
จากสาเหตุในทุก ๆ ข้อ
ตัวพนักงานที่ได้รับแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นจากตัวนายจ้างเอง ตัวองค์กรเอง
หรือแม้กระทั่งความรู้สึกเบื่อหน่ายของตัวพนักงานเอง
ก็จะทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าสะสม
และพนักงานจะเกิดมุมมองในแง่ลบว่า ตัวพวกเขาเอง ไม่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานในบริษัทนั้น ๆ
จนค่อย ๆ รู้สึกหมดใจในการทำงานไปในที่สุด
หลังจากที่เราพอจะทราบสาเหตุคร่าว ๆ แล้ว
ทีนี้ เรามาดูวิธีรับมือ เพื่อแก้ไขปัญหาอาการ “Brownout Syndrome” กัน
วิธีที่ 1 ปรับความยืดหยุ่นขององค์กรให้มากขึ้น
เช่น ปรับให้มีการสื่อสารระหว่าง เจ้านาย ทีมบริหาร และพนักงาน ที่มากขึ้น
รวมไปถึงสิ่งสำคัญอย่าง การปรับวัฒนธรรมองค์กร หรือการตั้งวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กรให้มีความชัดเจน มีความยุติธรรมเท่าเทียม ทั้งในพนักงานคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์
และไม่สร้างวัฒนธรรมเส้นสายให้เกิดขึ้นในองค์กร
วิธีที่ 2 ปรับมุมมองและการตั้งเป้าหมายให้ดีขึ้น สำหรับตัวพนักงานเอง
หากองค์กรของเรา พร้อมใจให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาตรงนี้แล้ว
ตัวพนักงานที่เกิดอาการ “Brownout” เอง
ก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ ในการแก้ปัญหาในครั้งนี้
ในฐานะพนักงาน เราอาจจะต้องทำการแบ่งเวลาการทำงาน และการพักผ่อน ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
เราอาจลองฟื้นฟูความรู้สึกและความมั่นใจของตัวเอง
โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ และกำหนดระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน
หรือหากว่าเราค้นพบความรู้สึกของตัวเองว่า เรากำลังแบกรับความรู้สึกหมดไฟและหมดใจไม่ไหวแล้วในตอนนี้ ก็ไม่เป็นไร.. จังหวะนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด สำหรับการเริ่มใช้วันลาพักร้อน เพื่อให้ตัวเราเองได้ไปค้นหาแรงบันดาลใจ หรือพักผ่อนหย่อนกาย
แบบไม่มีภาระหน้าที่ให้เต็มที่ แล้วจึงค่อย ๆ ลองกลับมาตั้งต้นใหม่ อีกครั้ง
จากเรื่องราวทั้งหมด จนมาถึงตรงนี้
เราจะเห็นได้ว่า อาการ Brownout ของพนักงานในองค์กร
ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากความกดดัน ความไม่เป็นธรรม
และการเลือกปฏิบัติของหัวหน้าหรือผู้บริหารในองค์กร
คำถามสำคัญที่ต้องย้อนกลับไปถาม เพื่อเตือนสติกับผู้นำองค์กร คือ
บริษัทกำลังโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ทางการเงินของธุรกิจมากเกินไป โดยไม่สนใจพนักงานเลยหรือเปล่า ?
แล้วบริษัทเคยสำรวจ สภาวะทางจิตใจของเหล่าพนักงานบ้างหรือไม่ ?
เพราะถ้าในบริษัทเรากำลังมีสภาพแวดล้อมเช่นนั้น
มันก็คงทำให้ พนักงานที่เก่ง ๆ หลายคน “หมดใจ” จากบริษัทของเราแล้ว..
References:
-https://www.entrepreneur.com/article/298402
-https://www.institutelm.com/resourceLibrary/how-to-tackle-brownout.html
-https://www.smethailandclub.com/human-4548-id.html
-https://www.blockdit.com/posts/609961a726e1920c3e3be9b7
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.