การนำเสนอที่ดี สามารถเปลี่ยนใจคนได้

การนำเสนอที่ดี สามารถเปลี่ยนใจคนได้

9 พ.ค. 2021
การนำเสนอที่ดี สามารถเปลี่ยนใจคนได้ | THE BRIEFCASE
หลายคนอาจจะพอรู้ว่าการนำเสนอที่น่าดึงดูดหรือสร้างผลกระทบให้กับคนได้ ต้องประกอบไปด้วย
เนื้อหาที่ดี วิธีการนำเสนอที่มีความสร้างสรรค์ มีน้ำเสียงและลีลาการเล่าที่น่าสนใจ
แต่ภายใต้คำว่า ดี สร้างสรรค์ และน่าสนใจ มันหน้าตาเป็นอย่างไร ?
นี่คือกรณีศึกษา จากหนังสือ ONE PLUS ONE EQUALS THREE เขียนโดย Dave Trott
นักโฆษณาและนักเขียนมือทองจากอังกฤษ ที่จะมาช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ของการนำเสนอ
เพื่อให้ทุกคนได้นำไปปรับใช้ กับการนำเสนอของตัวเองได้
กรณีศึกษาที่ 1 : ไม้จิ้มฟัน ก็เปลี่ยนความคิดคนได้
มีงานนิทรรศการอาหารแห่งหนึ่ง ที่รวมร้านอาหารชั้นเลิศจากยุโรปไว้มากมาย
และแน่นอนว่าในงานนี้ ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารรสเลิศอยู่ด้วยเช่นกัน
และในงานนี้ก็มีชายสองคน ที่เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ ได้ปลอมตัวเป็นเจ้าของร้านอาหาร
และพวกเขาก็ได้ซื้ออาหารจากแมคโดนัลด์ เพื่อต้องการทดสอบว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารรสเลิศนั้น เชี่ยวชาญในเรื่องของการลิ้มรสอาหารมากแค่ไหน
แล้วชายหนุ่มสองคนก็คิดว่า จะจัดฉากอย่างไรให้พวกผู้เชี่ยวชาญไม่รู้ว่า นี่คืออาหารฟาสต์ฟูด
แต่สุดท้าย พวกเขาก็ปิ๊งไอเดียว่าเพียงแค่ใช้ “ไม้จิ้มฟัน” มันก็เปลี่ยนความคิดของคนชิมได้แล้ว..
จากนั้นชายทั้งสองคน ก็ลงมือหั่นบิกแมคให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และใช้ไม้จิ้มฟันเสียบทีละชิ้นและจัดใส่จาน
เมื่อผู้เชี่ยวชาญได้ชิมอาหาร ต่างก็พูดไปในทิศทางเดียวกันว่า “อาหารจานนี้รสชาติดี เนื้อแน่น เคี้ยวได้พอดีคำ” และ “อาหารมีความสดใหม่ มีเนื้อสัมผัสที่ดี และไม่เหนียว”
ชายทั้งสองจึงอยากให้ผู้เชี่ยวชาญเปรียบเทียบกับอาหารของแมคโดนัลด์
ซึ่งทุกคนต่างก็บอกว่า มันมีรสชาติที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เพราะอาหารจานนี้ ออร์แกนิกและสดใหม่กว่าแมคโดนัลด์
แล้วจากเรื่องนี้เราเห็นอะไร ?
รสชาติหรือที่มาของอาหารที่แท้จริง อาจไม่ได้รับการยอมรับ แต่ไม้จิ้มฟันเล็ก ๆ นี่ต่างหากที่สร้างมูลค่าเพิ่ม จนอาหารถูกยอมรับ..
หากชายทั้งสอง นำเสนออาหารด้วยการห่อด้วยกระดาษ ที่มีสัญลักษณ์ของแมคโดนัลด์
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารรสเลิศ ก็คงไม่มีใครออกปากชื่นชมขนาดนี้
นั่นก็เพราะพวกเขาไม่ได้ชิมแค่อาหาร แต่พวกเขา “ชิมรสชาติของการนำเสนอด้วย”
ดังนั้นเราต้องอย่าคิดไปเองว่า ของของเรามันมีข้อดีมากพอ ที่จะทำให้พวกเขาตัดสินใจซื้อไอเดีย
เราต้องวางแผนให้ดีด้วยว่า จะทำอย่างไรให้เขาเปิดใจฟังไอเดียของเราอย่างตั้งใจ
เพราะการที่เราพยายามมองจากมุมของคนอื่นว่าเขาต้องการอะไร
มันอาจจะดีกว่าการมองโลกความเป็นจริงก็ได้..
กรณีศึกษาที่ 2 : แผนภูมิ ช่วยรักษาชีวิตคน
มีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อว่า ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เธอเกิดในยุคที่ยังไม่ค่อยมีใครสนใจความสามารถของผู้หญิง
แต่เธอก็ได้ร่ำเรียนวิชาสำคัญต่าง ๆ ทั้งคณิตศาสตร์ การแพทย์ และการพยาบาล
ในปี 1854 เธอได้นำพยาบาลอาสาสมัครไปที่โรงพยาบาลทหาร ซึ่งใกล้กับสมรภูมิรบสงครามไครเมีย
เมื่อเธอไปถึงก็ตกใจมาก เพราะทหารที่ป่วยตาย มีจำนวนมากกว่าทหารที่ตายจากการสู้รบ ถึง 10 เท่า
ทั้งจากโรคไข้รากสาดใหญ่ อหิวาตกโรค มาลาเรีย โรคบิด
สุดท้ายไนติงเกลก็เจอสาเหตุสำคัญ นั่นก็คือ ระบบท่อน้ำเสียที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค และอากาศที่ถ่ายเทไม่ดี
เธอจึงตัดสินใจกลับไปที่ลอนดอน เพื่อไปแจ้งเรื่องนี้กับรัฐสภา
แต่เธอรู้ดีว่า การอธิบายด้วยเนื้อหาที่ยาว และการบอกรายละเอียดที่เยอะ
คงไม่มีใครในสภาเปิดจดหมายอ่าน
และเธอก็คิดว่า “การแสดงข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นตัวเลข” ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เธอต้องการ
เธออยากให้มันทรงพลังและโน้มน้าวทุกคนในรัฐสภาได้
เธอจึงนำเสนอเรื่องนี้ด้วยการใช้ “แผนภูมิรูปภาพ” โดยพัฒนาแผนภูมิวงกลมให้มีความละเอียดมากขึ้น
ซึ่งเธอนำเสนอข้อเท็จจริงออกมาเป็นรูปภาพอย่างชัดเจน โดยแสดงจำนวนผู้เสียชีวิต สาเหตุการเสียชีวิต
ในรูปแบบที่ “ไม่ว่าใครก็เข้าใจได้ทันที”
เมื่อการนำเสนอนี้จบลง มันทรงพลังมากเหมือนกับฟ้าผ่า
การนำเสนอนี้ทำให้รัฐสภาสั่งให้วิศวกร ออกแบบและสร้างโรงพยาบาลใหม่ทันที
ผลที่ได้ก็คือ อัตราการเสียชีวิตของทหารลดลงจาก 42% เหลือ 2%
และสงครามไครเมียก็กลายเป็นสงครามสุดท้าย ที่มีคนตายจากโรคมากกว่าตายจากการรบ
ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทหารอีกหลายพันคน ก็คงจะต้องเสียชีวิต..
และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ถ้าเธอคนนี้ ไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากพอ นั่นก็คือ คนที่ต้องฟังสิ่งที่เธอนำเสนอ
ถ้าเธอไม่เลือกวิธีการนำเสนอที่เข้าใจง่าย และเห็นภาพได้อย่างชัดเจน
จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การมีสถิติ มีข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง หรือมีกลยุทธ์การแก้ปัญหาที่ดีแค่ไหน
มันอาจจะสร้างผลกระทบกับใครไม่ได้เลย ถ้าวิธีการนำเสนอ ยังไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด..
ซึ่งมันก็สะท้อนให้เราเห็นว่า การนำเสนอที่ดีคือส่วนสำคัญ ที่เปลี่ยนใจคนได้
และยังทำให้การสื่อสารของเรา มีประสิทธิภาพขึ้นได้ด้วย..
Reference
- หนังสือ ONE PLUS ONE EQUALS THREE เขียนโดย Dave Trott แปลโดย พราว อมาตยกุล
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.