เรียนรู้แนวคิดการบริหารธุรกิจ ผ่านผู้ก่อตั้ง “Paul Smith” แบรนด์แฟชั่นจากอังกฤษ

เรียนรู้แนวคิดการบริหารธุรกิจ ผ่านผู้ก่อตั้ง “Paul Smith” แบรนด์แฟชั่นจากอังกฤษ

23 เม.ย. 2021
เรียนรู้แนวคิดการบริหารธุรกิจ ผ่านผู้ก่อตั้ง “Paul Smith” แบรนด์แฟชั่นจากอังกฤษ | THE BRIEFCASE
ถ้าพูดถึงแบรนด์แฟชั่นจากอังกฤษ ที่ใช้สีสันหลากหลาย เรียงเป็นเส้นตรงแนวยาวคล้ายม้าลาย ดูแปลกตา
เราจะนึกถึงแบรนด์อะไรบ้าง ?
เกริ่นมาแบบนี้ หลายคนคงจะเดาได้ไม่ยาก
เพราะนี่คือเอกลักษณ์ประจำตัวของแบรนด์ “Paul Smith” นั่นเอง
Paul Smith เป็นแบรนด์แฟชั่นที่มีอายุ 51 ปี และเป็นที่รู้จักของผู้คนเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก
จริง ๆ แล้ว Paul Smith ไม่ได้เป็นเพียงแค่ชื่อแบรนด์เท่านั้น
แต่ชื่อนี้ยังเป็นชื่อเดียวกันกับผู้ก่อตั้ง “พอล สมิธ” ที่มีอายุมากถึง 74 ปี อีกด้วย
แล้ว คุณพอล สมิธ คนนี้
เขาปลุกปั้นและบริหารแบรนด์แฟชั่น จนประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้อย่างไร ?
วันนี้ THE BRIEFCASE จะมาสรุปให้ฟัง..
คุณพอล สมิธ เกิดในปี ค.ศ. 1946 ที่เมืองบีสตัน, นอตทิงแฮมเชอร์ ประเทศอังกฤษ
ถ้าดูจากภายนอก คุณพอลจะเหมือนกับเด็กอังกฤษทั่วไป
แต่ภายในใจของคุณพอล มีความแตกต่างอยู่ตรงที่ เขาจะมีความทะเยอทะยานเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ๆ
ซึ่งในวัยเพียงแค่ 15 ปี คุณพอลได้เริ่มหางานพิเศษทำ โดยได้เข้าไปทำงานในโกดังเสื้อผ้าของเมืองนอตทิงแฮม
เขามีความฝันว่า สักวันหนึ่งเขาอยากจะเป็นนักกีฬาปั่นจักรยาน
แต่แล้ว.. ความฝันนี้ก็ต้องสลายไปในทันที
เพราะว่าตอนคุณพอลอายุ 17 ปี ได้ประสบอุบัติเหตุจากการขี่จักรยาน จนทำให้เขาต้องไปพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่า 6 เดือน และสภาพร่างกายของเขา ก็ไม่สมบูรณ์แบบพอ ที่จะขี่จักรยานเป็นอาชีพได้อีกต่อไป
แต่เรื่องราวนี้ ไม่ได้ทำให้เด็กหนุ่มคนนี้ ยอมแพ้กับชีวิตแต่อย่างใด
ซึ่งคุณพอลตัดสินใจที่จะลุกขึ้นมาสู้ต่อกับโชคชะตา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Paul Smith ในเวลาต่อมา
ในขณะนั้น คุณพอลได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว เช่น เสื้อผ้า และสิ่งของในบ้านเรือน ที่ดูแสนธรรมดา และไม่มีชีวิตชีวาเอาเสียเลย
และในเวลาเดียวกัน กัลยาณมิตรข้างตัวของเขาอย่าง คุณพอลลีน ไดเนอร์ ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาของเขา ก็ได้สนับสนุน และพาคุณพอลเข้ามาสู่โลกแห่งการออกแบบดีไซน์
ด้วยแรงสนับสนุนจากคนข้างกายอย่างต่อเนื่องนี้เอง
จึงทำให้คุณพอล ค่อย ๆ เริ่มต้นเรียนรู้ในสาขาที่ตนไม่เคยสัมผัสมาก่อน
จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 1970 คุณพอลก็ได้ก่อตั้งร้านขายเสื้อผ้าหลากสีของเขาขึ้น ในชื่อว่า “Paul Smith” บนถนน Byard Lane เมืองนอตทิงแฮม ด้วยเงินตั้งต้นเพียง 30,000 บาท
ใครจะไปรู้ว่า จากแบรนด์เสื้อผ้าริมถนนในวันนั้น
ตอนนี้กลายมาเป็นแบรนด์เนมที่มีสาขาไปทั่วโลก จนมีรายได้มากถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี
รวมถึงตัวคุณพอล สมิธ เอง ที่ถูกประเมินมูลค่าทรัพย์สินมากถึง 13,000 ล้านบาท
จากเรื่องราวความสำเร็จนี้
คุณพอล สมิธ มีหลักความคิดในการใช้ชีวิต และบริหารธุรกิจ อย่างไร ?
1. แบรนด์หรูและดี ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง
คุณพอลไม่ได้มีมุมมองกับแบรนด์แฟชั่นว่า จะดีได้ ต่อเมื่อมีราคาแพง
สำหรับคุณพอลแล้ว ดีไซน์ที่สวย เน้นความหลากหลาย ราคาจับต้องได้ และหรูด้วยคุณภาพที่สมราคาต่างหาก คือเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ Paul Smith สามารถกลายเป็นแบรนด์เนมที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
2. ไม่มีข้ออ้างสำหรับคำว่า “ไม่มีไอเดีย” ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ
คุณพอลมีความเชื่อตลอดว่า มนุษย์ทุกคนสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจ จากสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ เพียงแต่จะต้องค้นหาให้ลึกและละเอียด
โดยการเริ่มต้นของแบรนด์ Paul Smith เอง ก็เกิดจากการที่คุณพอล เป็นคนช่างสังเกตสิ่งรอบตัวของเขา ชอบพบปะผู้คน และชอบเรียนรู้ จึงทำให้เกิดไอเดียที่สามารถคิดต่อยอดได้ต่าง ๆ มากมาย
3. ให้ความสนใจกับกลยุทธ์การบริหาร ที่เน้นความยั่งยืน (Sustainability)
ผลกระทบของโควิด 19 ส่งผลร้ายแรงกับหลาย ๆ แบรนด์
สำหรับ Paul Smith ก็กระทบเช่นกัน แต่เป็นการกระทบที่แบรนด์มีแผนตั้งรับไว้อยู่แล้ว
คุณพอลบอกว่า ตัวเขามีการวางแผนกลยุทธ์การบริหาร ที่เน้นความยั่งยืนให้กับแบรนด์ Paul Smith อยู่แล้ว
เขาและพนักงานจะวางแผนกันว่า หากเกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ?
โดยกลยุทธ์ที่เน้นความยั่งยืน ที่พอจะสรุปออกมาได้ เช่น
- การบริหารจัดการในเรื่องการขายกับลูกค้า โดยเน้นเป็นลักษณะการขายตรงจากแบรนด์ถึงผู้บริโภค (Direct to Customer) และลดการใช้ตัวกลางทางการค้า
- เริ่มต้นปรับกลยุทธ์เน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์
- การขยายความร่วมมือกับดีไซเนอร์ท้องถิ่นในทุก ๆ ประเทศ
- การไม่นำแบรนด์ตัวเอง ไปผูกติดหรืออยู่ภายใต้บริษัทแบรนด์เนมเครือใหญ่ ๆ
เพื่อที่เวลาเกิดวิกฤติ แบรนด์จะได้ควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้ง่ายขึ้น
- การใช้วัตถุดิบในการทำเสื้อ เช่น เส้นใยออร์แกนิก ที่มีอายุอยู่ได้ยืนนาน และแพ็กเกจจิง ที่สามารถรีไซเคิลได้ง่ายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์อีกด้วย
- พนักงาน ต้องรู้จักการบริการที่ให้เกียรติ และสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับลูกค้าทุกคน
เพื่อที่จะทำให้พวกเขาอยากกลับมาซื้อสินค้าของเราอีกครั้ง
4. อย่าทำธุรกิจ เพื่อหวังแต่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว
สำหรับคุณพอล การทำธุรกิจ “ความชอบ” คือแรงกระตุ้นหลักของการขับเคลื่อนบริษัท ซึ่งเมื่อทำได้ดี สุดท้ายแล้วจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผลตอบแทนในที่สุด
ดังนั้น การนำผลตอบแทน เป็นตัวตั้งหรือแรงจูงใจหลัก ในการขับเคลื่อนองค์กร อาจไม่สามารถทำให้ธุรกิจได้ผลลัพธ์ที่ดีได้อย่างยั่งยืน
คุณพอลเอง ก็ไม่ได้มองด้วยว่า Paul Smith จะต้องเติบโตให้เร็ว เน้นการแข่งขันทางธุรกิจและตลาดกับแบรนด์อื่น ๆ
แต่การเติบโตไปเรื่อย ๆ แบบมีทิศทางที่ชัดเจนของ Paul Smith คือการทำธุรกิจและการปรับตัวที่ดีที่สุด สำหรับมุมมองของเขา
ปิดท้ายด้วยวลีเด็ดของคุณพอล ที่เขาใช้เป็นหลักการ ในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ
“แรงบันดาลใจนั้น หาได้ง่ายทั่วไป
แต่การเริ่มต้นที่จะทำ หาได้จากตัวคุณเองเท่านั้น
และทุกวันสำหรับผม ก็เป็นเหมือนการเริ่มต้นครั้งใหม่อยู่เสมอ” - พอล สมิธ
References
-https://www.vogue.co.uk/article/paul-smith-on-building-successful-brand
-https://lofficielthailand.com/2020/10/paulsmith50/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Paul_Smith_(fashion_designer)
© 2024 BrandCase. All rights reserved. Privacy Policy.